29.9.09

สาเหตุของความดันโลหิตสูง

สุขภาพ

เคยใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ นะ อยากจะเป็นนักเขียนหรือได้เขียนบทความที่ให้ผู้อ่านได้รับสาระน่ารู้ซึ่งผู้อ่านสามารถเก็บจดจำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่มากก็น้อย และวันที่รอคอยก็มาถึงในที่สุด วันนี้หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน เปิดไปเปิดมาก็เจอสาระน่ารู้เรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นเกร็ดความรู้ได้ไม่มากก็น้อยทีเดียว ซึ่งสาระเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับคนในครอบครัวของผู้เขียนมากทีเดียว ก็คือ คุณพ่อของผู้เขียนนั่นเอง ที่กำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่เหมือนกัน และผู้เขียนคิดว่า น่าจะมีผู้อ่านหลายท่านที่อาจจะมีบุคคลในครอบครัวที่มีปัญหาแบบเดียวกับผู้เขียนเช่นกัน เลยขอยกข้อความสาระน่ารู้เรื่องนี้มาฝากก็แล้วกัน นะคะ

ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิต คือ ความดันของเลือดภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ประกอบด้วยควาดันตัวบนหรือความดันซีสโตลีก (Systolic blood pressrue) เป็นค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว และความดันตัวล่างหรือความดันไดแอสโตลีก (Diastolic blood pressure ) เป็นค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (มม. ปรอท )


โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อย ในปัจจุบันพบประมาณ 20-40 % ของประชากรผู้ใหญ่ คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่รู้ว่าเป็น จีงไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่ง เนื่องจากไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ ปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อน มีการเสื่อมสภาพของอวัยวะต่าง ๆ ก่อน จึงจะเริ่มรักษา ทำให้การรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

สาเหตุของความดันโลหิตสูง
1. ส่วนใหญ่กว่า 90% ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เป็นผลรวมจากหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่
* ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าถ้ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่มีคนในครอบครัวเป็นถึง 3 เท่า
* ปัจจัยเสริมอื่น ๆ ได้แก่ อายุมาก ความอ้วน อารมณ์เครียด การรับประทานอาหารเค็มจัด การดื่มเหล้าจัด การไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มเป็นเมื่ออายุ 30-55 ปี เรื่มพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
2. ส่วนน้อย (ต่ำกว่า 10 %) อาจตรวจพบสาเหตุโดยเฉพาะถ้าพบในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี หรือเริ่มมีความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมาก (มากกว่า 55 ปี ) จึงควรตรวจหาสาเหตุ ได้แก่
* ยาบางชนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
* โรคไต เช่น หลอดเลือดไตตีบ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง เนื้องอกที่ไต วัณโรคที่ไต เป็นต้น
* เนื้องอกของต่อมหมวกไต ชนิดฟีโอโครโมไซโตมา โรคคุชชิง
* โรคครรภ์เป็นพิษ
* โรคหลอดเลือดแดงเออร์ตาตีบตัว
( Coarctation of aorta )
3. ในผู้สูงอายุ มักมีความดันตัวบนสูงอย่างเดียว เกิดจากมีภาวะผนังของหลอดเลือดแดงแข็งตัว เรียกว่าความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ
4. ความดันโลหิตสูงชั่วคราว หรือ Labile hypertension เกิดจากมีภาวะที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น มีไข้ซีด ออกกำลังกายมาใหม่ ๆ เครียด โกรธ ตื่นเต้นซึ่งความดันโลหิตสูงชนิดนี้ไม่ต้องรักษา หายได้เอง เมื่อภาวะดังกล่าวหายไป

อาการของโรคความดันโลหิตสูง
ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งมักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปพบแพทย์ด้วยปัญหาอื่น ส่วนน้อยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีอาการ ได้แก่
- ปวดมึนศรีษะบริเวณท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนใหม่ ๆ พอสาย ๆ อาการทุเลาไปเองบางรายอาจมีอาการปวดศรีษะตุบ ๆ คล้ายไมแกรนได้
- ในรายที่เป็นมานาน หรือความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการเหนี่อยง่าย อ่อนเพลีย ( เนื่องจากหัวใจต้องทำงานมากกว่าปกติ ) ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว เลือดกำเดาไหล ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่รับการรักษาจะมีอาการของภาวะแทรกซ้อนตามมา

อาการแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่
1. หัวใจ จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย นอกจากนี้อาจทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
2. สมอง อาจเกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยและอันตรายถึงชีวิตได้
3. ไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อม เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ
4. ตา เกิดภาวะเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อย ๆ จนตาบอดในที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะเกิดขั้นรุนแรงหรือรวดเร็วเพียงใดนั้นขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นของโรค ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ และมีชีวิตยืนยาวเหมือนคนปกติ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูง
เมื่อตรวจพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. ลดน้ำหนักตัว โดยเฉพาะในรายที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน พบว่าน้ำหนักตัวที่ลดลงทุก 1 กิโลกรัม จะทำให้ค่าความดันลดลง 2.5/1.5 มม.ปรอท เฉพาะในรายที่อ้วน
2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด เพื่อลดปริมาณเกลือที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เกลือน้อย เพิ่มผักและผลไม้จะสามารถช่วยลดความดันค่าบน (Systolic BP ) ได้ถึง 11 มม.ปรอท
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮล์และงดสูบบุหรี่ จะสามารถลดความดันค่าบน ( Systolic BP ) ได้ถึง 10 มม.ปรอท
4. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ พบว่าถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอ 5 ครั้ง/สัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง จะช่วยลดความดันค่าบน (Systolic BP ) ได้2-10 มม.ปรอท
5. ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด และวิตกกังวล
6. สตรีที่มีความดันโลหิตสูงจากยาคุมกำเนิด ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม
7. รับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตและปรับยาให้เหมาะสม