27.1.09

สัญญาณเตือนมะเร็ง

สัญญาณเตือนมะเร็ง
มะเร็งเป็นโรคร้ายที่น่าสะพรึงกลัว แต่ถ้าคุณไปพบคุณหมอเร็วเท่าใด จะมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้มากขึ้นเท่านั้น อาหารเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายค่ะ
· มะเร็งปากมดลูก ตกขาวมีปริมาณมาก มีกลิ่น สีผิดปกติ หรือมีเลือดปน มีเลือดออกจากช่องคลอดนอกรอบเดือน เจ็บปวดและเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
· มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ผู้หมดประจำเดือนแล้วกลับมีเลือดออกอีก มีตกขาวมากผิดปกติ โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือนแล้ว
· มะเร็งรังไข่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเจ็บปวดหลังมีเพศสัมพันธ์ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง หรือปวดท้อง น้ำหนักลดและปวดหลัง
· มะเร็งในเม็ดเลือด เหนื่อยง่าย ซีดเซียว มีเลือดออกที่จมูก เหงือก กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ โลหิตจาง ฟกช้ำง่ายติดเชื้อง่าย มีไข้ คลำพบก้อนบวมด้านซ้ายของช่องท้อง
· มะเร็งปอด เจ็บหรือเสียวหน้าอกหายใจลำบาก หอบ ไอเรื้อรัง มีเลือดออกและมีเสมหะปนมากับน้ำลาย น้ำหนักลด
· มะเร็งตับ อาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่นชายโครงขวา เบื่ออาหาร ตาและผิวสีออกเหลือง คลำพบก้อนที่ชายโครงขวา
· มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือดโดยไม่เจ็บปวด ถ่ายปัสสาวะบ่อยแสบ หรือขัดเนื่องจากเลือดที่ออกจับตัวเป็นลิ่ม อาจปวดหลังจากการอุดตันของท่อไต
· มะเร็งสมอง ปวดศีรษะนาน ๆ ร่วมกับอาเจียน ตาพร่า เห็นแสงเขียว ๆ เหลือ ๆ
ลอยไปมา มักอ่อนเพลียหรือเป็นลมกะทันทันมีอาการชาหรือเป็นอัมพาตชั่วคราว
· มะเร็งในช่องปาก มีก้อนบวมในช่องปากหรือลิ้น มีแผลเปื่อยที่ได้ได้รับการรักษาหรือ แผลเรื้อรังที่เหงือกจากการกดทับของฟันปลอม พูดไม่ชัด เจ็บขณะกลืนอาหาร
· มะเร็งในกระเพาะอาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร ท้องอืด อาหารไม่ย่อยบ่อย ๆ อุจจาระเป็นสีดำคล้ำ
· มะเร็งเต้านม มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม มีเลือดหรือของเหลวไหลจากหัวนมบวม มีก้อนบวมใต้รักแร้ อาจมีสิวหรือตุ่มขึ้นเต้านมเป็นเวลานาน
· มะเร็งลำไส้ใหญ่ น้ำหนักลด ปวดท้องมาก และระบบการย่อยผิดปกติ มีเลือดสีคล้ำปนกับอุจจาระ (เลือดจากอาการริดสีดวงทวารจะมีสีแดงสด)
· มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีก้อนบวมที่ใต้รักแร้หรือขาหนีบ มีแผลเปื่อยพุพองที่ไม่ได้รับการรักษา ไฝหรือหูดมีรูปร่างหรือสีเปลี่ยนไปและโตขึ้น
· มะเร็งต่อมลูกหมาก ปัสสาวะขัดไม่พุ่งต้องปัสสาวะบ่อย ๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจรู้สึกปวดเมื่อถึงจุดสุดยอด อวัยวะเพศแข็งตัวลำบาก มีเลือดปนในน้ำอสุจิและปัสสาวะ

9.1.09

ปวดศีรษะไมเกรนบำบัดได้

ปวดศีรษะไมเกรนบำบัดได้

หลายคนมีอาการปวดศีรษะไมเกรน อาการนี้เป็นแบบเรื้อรัง รักษายาก กินยา เปลี่ยนยาสารพัด แต่ก็ไม่หายขาด ที่จริง ...คนที่เป็นไมเกรนส่วนหนึ่ง คุณสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง ดังนั้น ...ถ้าอยากจะหายจากไมเกรนเชิญทางนี้ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า อาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจาก สภาวะที่หลอดเลือดเลี้ยงหนังศีรษะขยายตัว ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น แต่เจ้ากรรมที่เจ้าตัวเกิดทนกับสภาพที่เลือดไหลขึ้นศีรษะมาก ๆ ไม่ได้ การที่เลือดมันฉีดมาเป็นระยะ ก็เลยทำให้รู้สึกปวดศีรษะตุ๊บ ๆ ทีนี้แหละกล้ามเนื้อที่กะโหลกศีรษะก็เกิดอาการเกร็งตัว แล้วยิ่งทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น ถ้าปวดมาก ๆ ก็ตาลาย อาเจียน ฯลฯ ใครเคยเป็นก็จะรู้ดีว่ามันทรมานแค่ไหนวิธีที่จะทำให้ตัวเองหายจากไมเกรน ให้ทำดังนี้

เลิกกินกาแฟอย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อกินกาแฟเข้าไป หลอดเลือดที่หนังศีรษะจะหดตัว เมื่อใดไม่ได้กินกาแฟ หลอดเลือดของคุณจะกลับมามีขนาดปกติ ซึ่งแสดงว่ามันขยายตัวมากกว่าตอนกินกาแฟ แล้วตอนนี้แหละร่างกายของคุณที่ชินกับขนาดของหลอดเลือดเล็ก ๆ จากผลของคาเฟอีนก็จะทนไม่ได้ แล้วเกิดอาการปวดศีรษะถ้าจะงดกาแฟก็ต้องงดคาเฟอีนแบบอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ชาจีน ชาเขียว เครื่องดื่มประเภทมอลต์ น้ำอัดลมน้ำดำ และเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลายด้วย

นวดหน้าและนวดหนังศีรษะเวลาปวด โดยเฉพาะที่ขมับ ให้เอานิ้วหัวแม่มือกดขมับแล้วกดนวดลงไปออกแรงให้พอเหมาะ นวดวนอยู่เช่นนั้น 10-20 ครั้งจากนั้นนวดหนังศีรษะโดยเอานิ้วมือขยี้หนังศีรษะเช่นเดียวกับตอนที่คุณกำลังจะสระผม จากนั้นใช้ทั้งมือกำผมดึงขึ้นมาจากหนังศีรษะให้เส้นผมตึง เปลี่ยนที่ขยี้ไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งหนังศีรษะ

ใช้รัตนชาติช่วยบำบัด แนะนำให้ใช้ลาปีส ซึ่งมีสีน้ำเงิน วางลงไปตรงตำแหน่งที่ปวดศีรษะ เพราะลาปีสสามารถทำให้หลอดเลือดที่ขยายตัวอยู่หดตัวลงได้ ให้วางลาปีส ไว้นานประมาณ 10 นาที แล้วเอาออก
มีอาหารบางอย่างที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรน : แนะนำให้กินปลา และสัตว์น้ำเป็นประจำ จะทำให้คุณสามารถทนปวดกับอาการที่เลือดไหลขึ้นไปเลี้ยงหนังศีรษะได้มากขึ้น กินกระเทียมสดให้มากขึ้น กินใบบัวบก เพราะมันมีฤทธิ์สงบประสาท ฯลฯ

หาวิธีคลายเครียด เพราะหากเครียด กล้ามเนื้อ ที่หนังศีรษะเกร็งตัวขึ้นมา อาการก็จะปวดมากขึ้น
นอนให้พอ อย่างน้อย ๆ คนเป็นไมเกรนควรจะต้องนอนวันละ 8 ชั่วโมง -ย้ำว่า 8 ชั่วโมง -ห้ามอดนอนเป็นนกฮูกอย่างเด็ดขาด

เมนูวันนี้เป็นเมนูแนะนำสำหรับคนที่เป็นไมเกรน เพื่อจะช่วยสงบประสาท และลดอาการปวดลงได้ ในระหว่างรักษาตัวเอง

กาแฟสมุนไพร
เครื่องปรุงเมล็ดชุมเห็ดไทย 100 กรัม/เมล็ดข้าวโพดแห้ง 50 กรัม/เม็ดมะขาม 20 เม็ด

วิธีทำเอากระทะตั้งไฟ คั่วเม็ดมะขามด้วยไฟอ่อน ๆ ก่อนจนหอมและสุกดี แล้วเอาออกจากกระทะมาแกะเปลือกออกแล้วโขลกให้เม็ดมันแตกออก เป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นจึงใส่เมล็ดข้าวโพดกับชุมเห็ดไทยลงไปในกระทะคั่วรวมกันโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ตลอดเวลา จนหอมและแห้งดีแล้ว จึงนำไปบดด้วยโม่ไฟฟ้าก็ได้ จะโขลกให้เมล็ดของมันพอแตกก็ได้ จากนั้นนำไปผสมกับเม็ดมะขาม

เมื่อต้องการใช้ให้ตักมา 1 ช้อนโต๊ะ แล้วต้มกับน้ำ 3 ถ้วย หลังจากน้ำเดือดแล้ว ให้เคี่ยวนานสัก 10 นาที กรองเอากากออกแล้วดื่มแทนกาแฟได้เลย

หมายเหตุกลิ่นของกาแฟสมุนไพรถ้วยนี้จะเหมือนกับกาแฟมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ติดกาแฟและต้องการดื่มอะไรเพราะติดเป็นนิสัย กาแฟถ้วยนี้ไม่มีคาเฟอีนจึงสามารถใช้แทนกาแฟธรรมดาได้ดี ในวันที่ต้องเลิกกาแฟ

ข้อดีอีกประการหนึ่งของกาแฟถ้วยนี้คือ เมล็ดชุมเห็ดไทยมีฤทธิ์ในเชิงสงบประสาท จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะในระหว่างการอดกาแฟได้ดีทีเดียวหาซื้อเมล็ดชุมเห็ดไทยได้ตามร้านขายยาสมุนไพรไทยทั่วไป ราคาไม่แพงเลยตกกิโลกรัมละประมาณ 25 บาทเท่านั้นข้อมูลโดย : พญ.ลลิตา ธีระสิริ

ที่มา : sanook.com

8.1.09

กินปลาป้องกันโรคหัวใจ

กินปลาป้องกันโรคหัวใจ

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของทั้งประชาชนคนไทยและของโลกทีเดียว และจากข้อมูลทางสถิติของประเทศในสหรัฐอมเริกาพบว่า ประชาชนกว่า 2 ล้านคนมีปัญหาเกี่ยวกับ โรคหัวใจ และหลอดเลือดซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ทั้งนี้การเกิดปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดอาจจะส่งผลให้ปัญหาระบบการหายใจ ทำให้ต้องหายใจถี่ ๆ และหอบ ส่งผลทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้

รายงานวิจัยของนายแพทย์ Dariush Mozaffarian จากโรงพยาบาล Brigham and Women's มหาวิทยาลัย Harvard Medical School ในเมืองบอสตัน ที่ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยผลดีของการรับประทานปลาอบหรือย่างจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

รายงานดังกล่าวได้พูดถึงประโยชน์ของการรับประทานปลา ว่าสามารถลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผิดปกติของ หัวใจ และหลอดเลือด รวมทั้งการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ ทั้งนี้ก็ควรอย่างยิ่งที่จะรับประทานปลาในรูปแบบอบหรือย่าง ไม่ใช่การทอด เพราะการทอดจะไปเพิ่มปริมาณไขมันในอาหารให้เพิ่มสูงขึ้น

จาก หัวใจ ที่มี 4 ห้อง แทนที่ 2 ห้องล่างซึ่งมีหน้าที่บีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปจะทำงานอย่างปกติก็อาจจะทำไม่ได้เนื่องจากอาจมีการอุดตันในหลอดเลือดเกิดขึ้นได้ และเหตุการณ์แบบนี้ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้ถึง 15-20%

คุณหมอได้ทำการศึกษาในคน 4,815 คนที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปตั้งแต่ปี 1989 โดยคุณหมอจะพยายามเฝ้าสังเกตและสอบถามเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของคนต่าง ๆ เหล่านี้ พบว่า คนที่รับประทานปลาที่ปรุงด้วยการย่างหรืออบบ่อย ๆ จะมีโอกาสที่จะมีปัญหาของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดน้อยกว่า และยังพบอีกว่าคนที่รับประทาน 1-4 ต่อสัปดาห์ ก็จะลดความเสี่ยงได้มากถึง 28% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่รับประทานน้อยกว่าเดือนละครั้ง

คุณหมอได้กล่าวต่ออีกว่าเหตุดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากกรดไขมัน Omega-3 ที่มีมากในปลานั่นเอง ทั้งนี้กรดไขมันดังกล่าวนอกจากจะพบในปลาแล้วยังจะพบได้ในอาหารอื่นๆ เช่น wall nut ผักใบเขียว ซึ่งเจ้ากรดไขมัน Omega-3 นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้น มันยังช่วยบำรุงสมองให้มีการพัฒนาและทำงานได้ดีอีกด้วย


ที่มา :
munjai.com

7.1.09

คน "วัยทอง" ระวังโรครุม

คน "วัยทอง" ระวังโรครุม

ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง"น.พ.นันศักดิ์ ศุกระฤกษ์?เผยผู้บริหารวัยล่วงเลยเข้าสู่วัยทอง ตัดสินใจสั่งการล่าช้า ก่อตัวไปมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานและครอบครัวที่บ้าน จนเกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ เสี่ยง 10 โรคร้ายรุมเร้า ต้นเหตุทำให้อายุสั้นกว่าผู้หญิงถึง 5 ปี แนะควรไปหาหมอตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน หากเข้าใจและยอมรับตัวเอง รวมทั้งคนใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ด้วยความห่วงใยอย่างดีเยี่ยม หรือโด๊ปฮอร์โมนเพศชายเสริม จะขจัดปัญหาให้หมดไปได้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.พ.พันศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ประธานชมรมคุณภาพ ชีวิตวัยทอง ได้กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "สมองใส วัยทอง"

คนกลุ่มวัยทองทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะคนทำงานระดับผู้บริหารหรือหัวหน้างานช่วงอายุตั้งแต่ 40-60 ปี จะมีความเครียดสะสม อารมณ์ สมาธิ ความจำและการตัดสินใจล่าช้าผิดพลาด มักมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และจะเกิดปัญหาครอบครัวตามมา สาเหตุที่สำคัญเกิดมาจากภาวะฮอร์โมนบกพร่อง"วัยทองเป็นวัยหนึ่งของชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ รวมทั้งการปรับตัวเข้ากับสังคม เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ที่ควบคุมการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดได้ทั้งในหญิงและชายวัยทอง ในผู้หญิงเรียกกันว่าเป็นช่วง "เลือดจะไปลมจะมา"

ส่วนในผู้ชายเรียกว่า ชายวัยทอง หรือ (PADAM) ซึ่งจะเกิดอาการ อารมณ์ปรวนแปร รู้สึกซึมเศร้า เหงา ไม่สนุกสนานรื่นเริง มองโลกในแง่ร้าย โกรธฉุนเฉียวง่าย อะไรที่เคยทนได้ก็จะทนไม่ได้ นอนไม่หลับหรือนอนแล้วตื่นง่าย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการบริหารงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานของตนเอง การสั่งการ การตัดสินใจ โดยเป็นปัญหาที่พบมากในกลุ่มเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อปัญหาครอบครัวตามมาด้วย เพราะว่าเมื่อเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวทำอะไรไม่ได้ดังใจแล้ว อาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสามีกับภรรยา ถ้าเป็นคนโสดจะมีปฏิกิริยากับคนรอบข้าง ทำให้เกิดภาวะเครียดทางด้านร่างกายและ จิตใจสะสมอย่างต่อเนื่อง" น.พ.พันศักดิ์ กล่าว ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวต่อว่า

ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากคนวัยทองมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของชีวิต รู้ว่าผู้หญิงในวัยนี้จะมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศหญิง เพราะรังไข่จะทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้นรังไข่จะหยุดทำงานและฮอร์โมนเพศหญิงจะหมดไปจนทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา ส่วนฝ่ายชายแม้ว่าฮอร์โมนจะไม่หมดไปเลยเหมือนผู้หญิง แต่หลังจากอายุ 40 ปี ไปแล้ว ระดับฮอร์โมนเพศชายจะผลิตน้อยลงทุกวัน ๆ และหากฮอร์โมน เพศชายต่ำกว่าค่าสูงสุดที่ควรจะเป็นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือบางคนอาจ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเกิดอาการต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้หญิง แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะเข้าใจว่าผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นวัยทอง ผู้ชายจึงไม่ไปพบแพทย์ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้พบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ชายนั้นจะสั้นกว่าผู้หญิง 5 ปี โดยผู้ชายจะเสียชีวิตเร็วกว่าด้วยโรคต่าง ๆ ที่เป็น

ผลเนื่องมาจากภาวบกพร่องของฮอร์โมนเพศชาย โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการพร่องฮอร์โมนเพศชาย อาทิ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม ความจำเสื่อม เครียด นอนไม่หลับ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคต่อมลูกหมาก และโรคกระดูกพรุน แต่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดโรคก่อนและต้องกินยาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจในระบบต่าง ๆ ของร่างกายแล้วทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งเสริมหรือเติมแต่งให้อยู่ในสมรรถภาพที่ดี โดยได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การปฏิบัติงานสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้างและคนในครอบครัวก็จะดีขึ้นน.พ.พันศักดิ์ กล่าวอีกว่า

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้รับรองฮอร์โมนเพศชายชนิดธรรมดาที่เรียกว่า เทสโทสเตอโรน อันเดคาโนเอท ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดรับประทานเข้าสู่กระแสเลือด โดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับ แล้ว สามารถออกฤทธิ์ช่วยเสริมแทนฮอร์โมนเพศชายที่ขาดไปได้ โดยเมื่อคนไข้ได้รับเข้าไปแล้ว ทุกอย่างที่เคยเสียไปก็จะกลับมากระฉับกระเฉง แข็งแรง อารมณ์ดี สดใสขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คนรอบข้างควรเข้าใจธรรมชาติของคนวัยทอง ที่มักมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว เครียด ซึ่งบางครั้งบางคราวก็ไม่รู้ตัว แต่ผู้หญิงกับผู้ชายจะมีปฏิกิริยาแสดงอารมณ์เครียดที่แตกต่างกัน คือผู้ชายจะเข้าถ้ำ ผู้หญิงชอบพรรณนา เนื่องจากเวลาเครียดผู้ชายจะนั่งซึม ทำตัวหงอย ไม่ยอมพูดยอมจา และคิดอะไรในทางที่ไม่ดี

ส่วนผู้หญิงมักจะพูดตลอดเวลา ทำให้เวลาเครียดผู้หญิงจะพูดมาก ส่วนผู้ชายไม่อยากพูด จึงเกิดการทะเลาะ เบาะแว้งทั้งที่ทำงานและที่บ้านประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวด้วยว่า วิธีช่วยคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้ชายวัยทอง คนรอบข้างสามารถสังเกตได้จากอาการที่เริ่มเปลี่ยน แปลงไป จากไม่เคยหงุดหงิด ก็จะเริ่มหงุดหงิด เคยพูดเล่นด้วยก็ไม่ได้ เริ่มทำงานไม่กระฉับกระเฉง เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ถ้าเห็นอาการเหล่านี้ อาจลองชักจูงให้ไปตรวจสุขภาพ เพื่อให้หมอตรวจเช็กเลือด ดูระดับฮอร์โมนที่ขาด หรือสามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ตามร้านขายยา เพื่อตรวจสอบดูว่าอยู่ในภาวะชายพกพร่องฮอร์โมนหรือไม่ และถ้าผู้ชายกลุ่มนี้มีความเข้าใจและยอมรับก็จะไปพบกับแพทย์ต่อไป แต่หากยังไม่ยอมรับ คนใกล้ชิดต้องให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้คำพูดทางบวกด้วยวิธีที่นิ่มนวลเชิงห่วงใย ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับชายวัยทองได้..

ที่มา : sanook.com

6.1.09

หญิง 13 -59 เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

หญิง 13 -59 เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า องค์การอนามัยโลก และองค์การยูเนสโก กำหนดให้วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวัน "หัวใจโลก" และกำหนดให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก 194 ประเทศ รณรงค์ในหัวข้อ ?ผู้หญิงกับโรคหัวใจอัมพาต?

ทั้งนี้ โรคที่เป็นสาเหตุ และมีความเสี่ยงสำคัญที่สุด ทำให้เกิดโรคหัวใจ และอัมพาต อันดับ 1. ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นผลมาจาก การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง รสเค็ม โดยขณะนี้ มีประชากรโลกกว่า 600 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรโลกทั้งหมด กำลังถูกโรคนี้คุกคาม โดย 420 ล้านคน อยู่ในประเทศที่มีฐานะยากจน ถึงปานกลางสำหรับประเทศไทย พบว่าในรอบ 20 ปี โรคความดันโลหิตสูงมีอัตราเพิ่มขึ้น 6?17 เท่าตัว


โดยผลการสำรวจ การวัดความดันโลหิตล่าสุดในปี 2542 พบประชาชนไทย มีความดันโลหิตสูงผิดปกติประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งน่าห่วงมาก สำหรับผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 13?59 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดประมาณ 20 ล้านคน มีความเสี่ยงสูงกว่าชาย เนื่องจากมีปัญหาอ้วนมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่าตัว และออกกำลังกายน้อยกว่าผู้ชาย ถึงร้อยละ 12

จากการวิเคราะห์ ภาระโรคจากการตาย และป่วยของผู้หญิงไทย พบว่าสาเหตุของการป่วย และการตายอันดับหนึ่ง มาจากโรคอัมพาต พบได้ทุก 2 ใน 10 คน รองลงมาได้แก่ เบาหวาน และหัวใจขาดเลือด สำหรับกิจกรรม เนื่องใน วันหัวใจโลก กระทรวงสาธารณสุข กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22?28 กันยายน 2546 โดยให้สถานพยาบาลในสังกัดว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ

เปิดให้บริการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจน้ำตาลในเลือดแก่ประชาชน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เพื่อทำการคัดกรองผู้ที่เป็นโรคนี้ แต่อาจยังไม่รู้ตัว เพื่อให้การรักษาป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ บางแห่งอาจมี การทดสอบสมรรถภาพทางกาย ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ มีการจัดประกวดเมนูอาหารไขมันต่ำ การประกวดเต้นแอโรบิกของชมรมออกกำลังกาย

ที่มา : mcot

5.1.09

โรคผิวหนังในฤดูหนาว

โรคผิวหนังในฤดูหนาว

ในช่วงฤดูหนาว หลายคนอาจผจญกับปัญหาโรคผิวหนังไม่แตกต่างจากฤดูกาลอื่น ๆ ขณะเดียวกันโรคบางโรคอาจกำเริบมากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พ.ญ. พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เป็นหวัดง่ายภูมิคุ้มกันลดลง อาจทำให้เป็นโรค

เริม หรือ งูสวัด หรือประสบปัญหา ผิวแห้ง และรังแค รุนแรงขึ้นเริม เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์ ติดต่อทางระบบหายใจในเด็กซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก กระจายรอบปาก และภายในช่องปาก ร่างกายจะสร้างภูมิและทำลายไวรัสได้เอง แผลจะหายได้ใน 2 สัปดาห์ ในบางรายเชื้อเริมบางส่วนจะหลบเข้าในปมประสาทขนาดเล็กบริเวณริมฝีปาก ในวัยผู้ใหญ่เมื่อภูมิไวรัสเริมต่ำลงเชื้อที่แอบแฝงจะออกมาทำลายผิวหนังใกล้ปมประสาท พบเป็นกลุ่มของตุ่มใส 5-10 ตุ่ม บริเวณมุมปาก หรือริมฝีปาก โดยมีการเป็นซ้ำเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำลงเป็นระยะ ๆ ตลอดชีวิต การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะช่วยให้ภูมิร่างกายปกติ แต่ถ้าเป็นเริมก็ไม่ต้องวิตกกังวลผื่นจะทุเลาได้เองภายใน 1 สัปดาห์

งูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสสุกใส เป็นเชื้อกลุ่มเฮอร์ปีส์ ติดต่อทางระบบหายใจ การติดเชื้อสุกใสครั้งแรกในวัยเด็กจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และตุ่มใสกระจายทั่วตัว ร่างกายจะสร้างภูมิขึ้น ผื่นหายเองใน 2 สัปดาห์ แต่ในบางคนเชื้อสุกใสจะหลบเข้าปมประสาทขนาดใหญ่ เมื่อภูมิคุ้มกันโรคสุกใสลดลงในวัยกลางคน หรือวัยสูงอายุ ไวรัสที่แฝงอยู่จะก่อให้เกิดอาการไข้และปวดรุนแรงตามแนวยาวของปมประสาท จะพบเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสเป็นแนวด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย งูสวัดจะหายสนิทใน 2 สัปดาห์ ไม่เกิดซ้ำเหมือนเริม ยกเว้นในรายที่มีภูมิต้านต่ำด้วยสาเหตุอื่น

ผิวแห้ง เซลล์ผิวหนังจะสร้างสารเคราติน อัดแน่นเป็นแผ่นบางใสในชั้นนอกสุด เรียกว่า หนังขี้ไคล ช่วยป้องกันการดูดซึมของสารเข้าสู่ร่างกาย ลดอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตและป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวหนัง แผ่นบางใสของหนังขี้ไคลจะมีรูขนาดเล็กเพื่อให้น้ำมันหล่อเลี้ยงผิวซึ่งร่างกายสร้างจากเซลล์ผิวหนังหรือจากต่อมไขมันสร้างออกมาเคลือบผิวชั้นขี้ไคลอีกชั้น น้ำมันหล่อเลี้ยงผิวเป็นส่วนผสมของน้ำมันหลายชนิด สารเพิ่มความ ชุ่มชื้น เกลือแร่และน้ำ ผิวแต่ละบุคคลจะสร้างน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวให้เหมาะสมแตกต่างกัน ในคนซึ่งผิวหนังธรรมดาปกติ การล้างมากเกิน ผิวก็จะแห้งและเกิดอาการคันได้

ในผู้ป่วยภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งเป็นผื่นแพ้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะมีอาการคันร่วมด้วย โรคนี้มีผิวแห้งร่วมด้วย ดังนั้นเมื่ออากาศหนาวผิวจะยิ่งแห้ง อาการคันจึงรุนแรงมากขึ้น การเกาจะทำให้เกิดรอยแผลติดเชื้อตามมา ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ครีมทาผิวให้ชุ่มชื้น เพื่อป้องกันการกำเริบของผื่น

ในคนผิวปกติมีการสร้างหนังขี้ไคลและน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวอย่างสมดุล การอาบน้ำเพียงเพื่อกำจัดขี้ไคลที่เกาะกับสิ่งสกปรกฝุ่นละอองหรือเครื่องสำอางออกควรเหลือน้ำมันหล่อเลี้ยงไว้เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง หลังการชำระล้างที่ เหมาะสม ถ้าสภาพผิวอยู่ในสภาพปกติก็ไม่จำเป็นต้องใช้ครีมทาผิวเพิ่มแต่ถ้าผิวแห้งการใช้ครีมทาผิวควรใช้แต่พอควร

ฤดูหนาวอากาศแห้ง ลมแรง ผิวอาจแห้งได้ ควรจะลดปริมาณสบู่ อย่าอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบนานเกินควร เพื่อรักษาน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวไว้ให้มากที่สุด เพราะในน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวนอกจากมีน้ำมันสารเพิ่มความชุ่มชื้นซึ่งสร้างเฉพาะตัวยังมีเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราซึ่งเป็นมิตรกับเราช่วยป้องกันเชื้อโรคร้ายแรงอื่นไม่ให้เข้ามาในชั้นผิวหนัง ดังนั้นการชำระล้างมากเกินไป นอกจากผิวแห้งจากการสูญเสียน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวแล้ว การชำระล้างยังทำลายเกาะภูมิคุ้มกันของผิวหนังด้วย ควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด เพื่อปรับอุณหภูมิร่างกายให้สม่ำเสมอ และยังช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากผิว ช่วยป้องกันลมและแสงแดด ถ้าผิวยังคงแห้งอยู่ ควรใช้น้ำมันมะกอกและวาสลินเจลลี่ทาเพิ่มความชุ่มชื้น แต่บางท่านอาจไม่ชอบเพราะเหนอะหนะ ก็อาจใช้ครีมซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป

ผิวแห้งบริเวณริมฝีปากอาจแตกเป็นร่องควรใช้วาสลินเจลลี่ทาบ่อย ๆ และลดปริมาณของยาสีฟันจะช่วยให้ริมฝีปากดีขึ้น ส่วนปัญหาเท้าแตกจะเป็นรุนแรงขึ้นควรทาวาสลินเจลลี่ หรือครีมผสมยูเรีย หรือซาลิซาลิก การใส่รองเท้าหรือถุงเท้าหุ้มจะช่วยให้ผิวแห้งลดลง

รังแค มีหลายท่านจะเกิดรังแคเฉพาะในฤดูหนาว ถ้ามีผื่นรังแคอยู่เดิมก็อาจมีอาการมากขึ้น เพราะผิวหนังแห้งจากอากาศแห้งและจากสมดุลของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราของผิวหนังอาจปรวนแปรไปในฤดูหนาวทำให้รังแคกำเริบ จึงแนะนำให้ใช้ยาสระผมชนิดรักษารังแค ไม่ควรสระผมบ่อยเพราะผิวจะแห้งมากขึ้น เมื่อรังแคหายก็ควรกลับมาใช้ยาสระผมธรรมดา อย่าใช้แชมพูรักษารังแคเพื่อป้องกันอาการรังแค เพราะเชื้อราชนิดนี้จะพบในภาวะปกติ การรักษาก็เพียงปรับปริมาณเชื้อให้กลับสู่สมดุลเท่านั้น ในบางรายผื่นรังแคอาจเป็นลามออกนอกหนังศีรษะที่บริเวณไรผม คิ้ว ข้างจมูก หลังใบหู รูหู หนวดและเครา ยาทาเชื้อราจะช่วยให้ผื่นทุเลา

ที่มา : woman.sanook.com

4.1.09

อัมพาต กับ ผู้สูงอายุ

อัมพาตคืออะไร

ในปัจจุบันที่คนเรามีอายุยืนขึ้น เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การที่เรามีการดูแลสุขภาพร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอและการรับประทาน อาหารที่เป็นประโยชน์ เป็นต้นในทางตรงกันข้าม ถ้าเราละเลยสิ่งเหล่านี้ เช่น นอนดึก สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอลเป็นประจำทำให้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับและในบรรดาโรคต่างๆเหล่านี้ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคหนึ่งที่ไม่เพียงมีผลต่อผู้ป่วยเอง แต่ยังมีผลกระทบ อย่างมากต่อญาติของผู้ป่วยด้วย ทั้งในแง่เวลา ค่ารักษาพยาบาล และการขาดรายได้ของญาติที่ต้องคอยพาผู้ป่วยมาหาแพทย์ ดังนั้นโรคอัมพาตจึงมีผลกระทบอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

อัมพาต(Stroke) เป็นคำที่ใช้เรียกอาการอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย หรือครึ่งท่อนล่างของร่างกาย ที่มีสาเหตุจากโรค หลอดเลือดสมอง หรือ ไขสันหลัง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดตีบหรือแตกก็ได้
องค์การอนามัยโลก(World Health Organization;WHO)ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

"เป็นอาการที่เกิดอย่างปัจจุบันทันทีต่อการทำงานของสมองบางส่วน หรือทั้งหมด
โดยที่อาการนั้นเป็นอยู่นานเกิน 24ชม. หรือทำให้สูญเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจาก โรคของหลอดเลือดเท่านั้น"

คำว่า "อัมพาต" เรามักจะหมายถึงอาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลยส่วนคำว่า "อัมพฤกษ์" เราหมายถึงอาการอ่อนแรงที่ผู้ป่วยยังพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง โดยทั่วไป เรามักจะนึกว่า อัมพาต อัมพฤกษ์ จะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มีอาการชา หรือมีความรู้สึกลดน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่การรับรู้สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็น ที่ลดลงก็เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งสิ้น อาการจะต้องเกิดในทันทีทันใด เช่น ตื่นนอนเช้า ขณะกำลังทำงาน หรือ กำลังทำกิจวัตรต่างๆ แล้วมีอาการชา หรืออ่อนแรง ในบางคนอาจจะมีอาการเตือนมาก่อน เช่น มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ตาข้างหนึ่งข้างใดมองไม่เห็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ แค่เป็นนาที หรือเป็น ชม. แล้วอาการดีขึ้นเป็นปกติ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการเตือนแล้วรีบมาพบแพทย์ก็จะมีประโยชน์ในแง่ของ การป้องกัน การเกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ได้

อัมพาตพบในผู้สูงอายุบ่อยแค่ไหน จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า อัมพาตจะพบมากขึ้นตามอายุทั้งเพศชายและหญิง เช่น
อายุ 45-54ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 1000ราย
อายุ 56-64ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 100 ราย
อายุ 75-84 ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 50ราย
อายุ มากกว่า 85 ปี พบอัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 30 ราย


นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชาย มีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุ 45-64 ปี แต่ถ้าอายุมากกว่า 65 ปีแล้ว โอกาสในการเกิดอัมพาต จะค่อนข้างเท่ากัน

อะไรเป็นสาเหตุของอัมพาต
จากการศึกษาพบว่า ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบาหวาน สูบบุหรี่การดื่มแอลกอฮอล ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด อัมพาตทั้งสิ้น เช่น
ผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่า คนที่ไม่เป็นประมาณ 2-4 เท่า
ผู้ที่มี โรคหลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่า คนไม่เป็นประมาณ 1-3 เท่า
เป็นต้น ดังนั้น การควบคุม ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง


ทำอย่างไรจึงจะป้องกันอัมพาตได้
ดังได้กล่าวมาแล้ว การควบคุมปัจจัยเสี่ยงล้วนสามารถป้องกันการเกิดอัมพาตได้ การป้องกันในระยะที่ยังไม่มีอัมพาตเป็นสิ่งที่แพทย์ สามารถให้คำแนะนำได้
ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีประวัติเบาหวานในครอบครัว
จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต เอ็กซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน


ตลอดจนการตรวจหาเชื้อ ซิฟิลิสในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
จะเป็นการทำให้เราทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ จะทำให้
การควบคุมและป้องกัน ผลแทรกซ้อนของโรคสามารถทำได้ง่าย

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคอัมพาตอยู่แล้ว และกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้อาการนั้นดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ควรควบคุม อาหารรสหวานทุกชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้รสหวานทุกชนิด อาหารจำพวกแป้ง เช่นข้าว ขนมปัง เป็นต้น แนะนำให้รับประทานผลไม้จำพวกส้ม หรือมะละกอ
ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ถ้ามีไขมัน คลอเรสเตอรอลสูง ควรงดอาหารจำพวก ไข่แดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ปลาหมึก หอยนางรม กุ้ง เป็นต้น แต่ถ้ามีไขมัน ไตรกรีเซอไรด์สูง ควรงดอาหารจำพวกแป้งดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ควรรับประทานยาและออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นไปพบแพทย์ เป็นระยะๆ จะช่วยให้อาการเหล่านั้นดีขึ้น และยังป้องกันไม่ให้อัมพาตซ้ำ

ผลที่เกิดกับผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตในระยะแรกพบว่าจะมีอาการเลวลงได้ถึง 30% ถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ปอดบวม หรือชัก ก็ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นไปอีก ในช่วงเดือนแรก หลังเกิดอาการพบว่ามีอัตราตายถึง 25% และใน 1 ปีมีอัตรา ตายถึง 40%

โอกาสที่จะเป็นอัมพาตซ้ำในระยะ 1 เดือนแรกหลังเกิดอัมพาตพบได้ถึง 3-5 % และ 10% ใน 1 ปี

เมื่อเราติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปจะพบว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 25% ที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน นอกจากนี้ 30 %ของผู้ป่วยจะเกิดโรคสมองเสื่อมตามมา

สรุป จะเห็นได้ว่า โรคอัมพาตเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในแง่ของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องที่จะต้องดูแลช่วยเหลือทำให้ มีผลกระทบต่อเศรษกิจในครอบครัวและส่วนรวม การป้องกันโรคอัมพาต สามารถทำได้ โดยการคอยตรวจสุขภาพ ร่างกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเราสามารถมี ชีวิตที่มีความสุขช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว


ที่มา : นพ.สามารถ นิธินันท์ อายุรแพทย์

3.1.09

เตรียมตัวไว้เพื่อไม่เป็นมะเร็ง

เตรียมตัวไว้เพื่อไม่เป็นมะเร็ง

ทุกอวัยวะของร่างกายสามารถเป็นมะเร็งได้ ยกเว้นเส้นผมและเล็บ มะเร็งมีความสำคัญบั่นทอนชีวิตมนุษย์ไปแล้วปีละหลายหมื่นหลายแสนคนทั่วโลก แม้ความพยายามคิดค้นยารักษามะเร็ง และเครื่องมือพิเศษรักษามะเร็งมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และประสพผลสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง เช่น เครื่องตรวจมะเร็งเต้านม Mammogram เครื่องจี้ไฟฟ้าด้วย Gas Argon เครื่องเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน เพื่อจี้ทำลายเซลล์มะเร็ง

เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นตามที่ รายการปัญหาชีวิตและสุขภาพ ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น แต่ก็ยังไม่สามารถลดสถิติการเป็นมะเร็งหรือหยุดยั้งมะเร็งในระยะท้ายๆ ได้โดยสิ้นเชิง ความสำคัญของโรคมะเร็งอวัยวะใดๆ ก็ตามจะอยู่ที่การตรวจพบในระยะเริ่มแรก และรักษาให้ถูกวิธีโดยรวดเร็ว ก่อนที่จะลุกลามและมีการกระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง

ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็ทราบแน่ชัดว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมให้เกิดมะเร็ง ได้แก่

1.พันธุกรรม ในครอบครัวที่มีญาติผู้ใหญ่เคยเป็นมะเร็ง หรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ลูกหลานหรือผู้สืบสกุล ควรจะต้องมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องโดยเคร่งครัด และหมั่นตรวจกรองมะเร็งอยู่เสมอเพื่อป้องกัน หรือเพื่อรับรู้ว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถจะรักษาให้หายขาดได้

2.สิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลภาวะต่างๆ สารปนเปื้อนในอาหาร ความเจ็บป่วย เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งตับ เป็นต้น

3.พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การรับประทานอาหารปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง การปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรม การปล่อยให้เจ็บป่วยโดยไม่จำเป็นและไม่ป้องกัน การเสพสุรา การสูบบุหรี่เรื้อรัง เป็นต้น
5 ประการเพื่อการป้องกันมะเร็ง ประกอบด้วย

1.รับประทานผักตระกูลกะหล่ำให้มาก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บร็อกโคลี่ ฯลฯ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ส่วนปลายกระเพาะอาหาร และอวัยวะระบบทางเดินหายใจ

2.รับประทานอาหารที่มีกากมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ เพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

3.รับประทานอาหารที่มีเบต้า-แคโรทีน และวิตามินเอสูง เช่น ผักสด ผลไม้ สีเขียว-เหลือง เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กล่องเสียง และปอด

4.รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผักสด ผลไม้ต่างๆ เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร

5.ควบคุมน้ำหนักตัว โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งมดลูก ถุงน้ำดี เต้านม และลำไส้ใหญ่ การออกกำลังกายและลดการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ก็จะช่วยป้องกันมะเร็งเหล่านี้ได้ การตรวจกรองมะเร็งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ วิทยาการก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้สามารถใช้เครื่องมือแพทย์ก้าวหน้าและการตรวจเลือดโดยเทคนิคก้าวหน้า สามารถบ่งบอกมะเร็งระยะเริ่มแรกได้ค่อนข้างชัดเจน การตรวจกรองเหล่านี้แยกเป็นระบบได้ดังนี้

มะเร็งมดลูกและปากมดลูก ตรวจภายใน ตรวจ Papsmear

มะเร็งเต้านม ตรวจร่างกาย ตรวจ Mammogram

มะเร็งตับ ตรวจร่างกาย ตรวจ U/S ตรวจอัลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-Fetoprotien) สำหรับไวรัสตับอักเสบบีนั้น ผู้ใหญ่ทุกท่านควรจะทราบว่าตนเองมีภูมิต้านทานแล้วหรือไม่ หากยังไม่มีภูมิต้านทาน ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้เสีย เพราะไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคเรื้อรังและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งตับ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจโดยส่องกล้อง ตรวจโดยวิธี X-Ray สวนสารทึบแสง ตรวจ CEA

มะเร็งกระเพาะอาหาร ส่องกล้องดูภายในกระเพาะและตัดชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิ

มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจทางทวารหนัก ตรวจ PSA

มะเร็งปอดหรือหลอดลม การเอกซเรย์ปอด การส่องกล้องเข้าดูภายใน การตรวจเซลล์มะเร็งจากน้ำล้างหลอดลมและตัดชิ้นเนื้อ

น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์


ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

2.1.09

โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหารเป็นคำที่ใช้เรียกภาวะผิดปกติที่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อืดแน่น เกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร บางรายรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย อาจมีอาการจุก เสียด คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นถ้าได้รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร อาการที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเรื้อรัง มีระยะที่โรคสงบไปได้เองเป็นช่วง ๆ


อาการเหล่านี้อาจเกิดในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร , ลำไส้เล็กส่วนต้น หรืออาจในคนที่ไม่มี แผลก็ได้ ซึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดแผลอยู่ที่ความผิดปกติของ กรดในกระเพาะอาหารที่เพิ่มขึ้น และ กลไกธรรมชาติในการป้องกันการเกิดแผลเสียไป

ในปัจจุบัน พบว่าแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่อาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหาร มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้เกิดแผลขึ้น นอกจากนี้ยังมียาแอสไพริน ยาลดการอักเสบ (Non-steroidal antiinflammatory drugs:NSAIDs) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลได้บ่อย

มะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการโรคกระเพาะในบางรายอาจเกี่ยวข้องกับมะเร็ง กระเพาะอาหาร ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มี อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีด คลำได้ก้อนผิดปกติบริเวณลิ้นปี่ กลืนลำบาก มีประวัติมะเร็งทางเดินอาหารในครอบครัว หรือ เริ่มเกิดอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลดีหลายวิธี นอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว การตรวจ X-ray กลืนสารทึบรังสี และการส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหาร สามารถตรวจพบแผล เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารตรวจหาเซลมะเร็ง และตรวจหาเชื้อ H. pylori ได้

การรักษา
การรักษาทำได้โดย
การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ปล่อยให้หิว ไม่รับประทานอิ่มเกินไป
พยายาม เลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการ เช่น อาหารรสเผ็ด กาแฟ งดเหล้า งดบุหรี่
หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน NSAIDs สเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น และ
ลดความเครียด ร่วมกับ
การใช้ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างเหมาะสม


ที่มา : นพ.พรเทพ วรวงศ์ประภา อายุรแพทย์

1.1.09

อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน

อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน

ก้าวแรกในการนำไปสู่การกินอย่างมีคุณภาพ
อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานคือ อาหารทั่วไปที่ไม่แตกต่างจากอาหารที่ทุกคนในครอบครัวควรรับประทาน แต่เป็นอาหารที่มีความหลากหลายที่ร่างกายต้องการครบถ้วนและสมดุล จึงเป็นอาหารที่ทุกคนในครอบครัวสามารถรับประทานร่วมกับผู้ป่วยได้ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเสมอคือปริมาณและชนิดของอาหารที่ควรรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณและชนิดของแป้งและไขมัน เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดรวมถึงการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ


นอกจากนี้ สิ่งที่ควรปฎิบัติให้เป็นนิสัยคือการรับประทานอาหารมื้อหลักหรืออาหารว่างให้เป็นเวลาทุกวัน และรับประทานในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวัน ไม่งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ผู้ป่วยสามารถที่จะลองอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ได้เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจถ้าต้องการลดน้ำหนัก ให้ลดอาหารที่รับประทานในแต่ละวันแต่ไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้รับประทานเกินอัตราในมื้อต่อไป ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ

ผู้เป็นเบาหวานอาจใช้ปิรามิดแนะแนวอาหารหรือธงโภชนบัญญัติของไทยเป็นแนวทางเลือกรับประทานอาหารได้หลากหลายและสมดุล เนื่องจากไม่มีอาหารชนิดใดชนิดเดียวที่จะให้สารอาหารครบถ้วน ควรเลือดรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ทุกวัน เพื่อให้ได้พลังงานและคุณค่าที่พอเหมาะกับร่างกายของแต่ละคนซึ่งขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ ขนาดรูปร่าง และระดับกิจกรรมการทำงานในแต่ละวัน ปรึกษานักโภชนบำบัดเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง รวมถึงระดับพลังงานที่เหมาะสมในการควบคุมเบาหวามอย่างมีคุณภาพ

สิ่งที่ผู้เป็นเบาหวานควรให้ความสนใจกับฉลากโภชนาการ

- ควรเปรียบเทียบปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคกับหมวดอาหารแลกเปลี่ยนซึ่งโดยปกติจะไม่เท่ากัน
- ปริมาณคาโบร์ไฮเดรตทั้งหมดและปริมาณน้ำตาล จะช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถแลกเปลี่ยนอาหารประเภทขนมหวานได้เล็กน้อยในบางโอกาส
- ปริมาณพลังงาน ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอล สำหรับผู้ที่ต้องการนับพลังงานและไขมัน รวมถึงผู้ที่ต้องการควบคุมคอเลสเตอรอลและน้ำหนักตัว
- ปริมาณโซเดียมเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโรคความดันและลดความเสี่ยงของโรคไต

แนวทางการบริโภคเพื่อสุขภาพประจำวัน

1.ข้าว/แป้ง/ถั่ว/เมล็ดธัญพืช
- ควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือหรือขนมปังที่ทำจากแป้งที่ไม่ได้ขัดสีเพื่อให้ร่างกายได้รับเส้นใยอาหารมากขึ้น
- ธัญพืช เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เป็นแหล่งของใยอาหาร
- เลือกอาหารว่างที่มีไขมันต่ำ เช่น ข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง ขนมปัง ธัญพืช เป็นต้น

2.ผัก
- เลือกรับประทานผักให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการผัดผักด้วยน้ำมันมากๆหรือการเติมซอสที่เค็มจัด

3.ผลไม้
- เลือกผลไม้สดแทนน้ำผลไม้ เพราะจะได้กากใยอาหารมากกว่า
- ถ้าเลือกน้ำผลไม้แทนผลไม้สด ควรเป้นน้ำผลไม้ 100 %

4.นม และผลิตภัณฑ์นม(พร่อง หรือขาดไขมัน)
- เลือกนม และผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย นอกจากให้โปรตีนสูงแล้ว ยังให้แคลเซี่ยมสูงด้วย
- หลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรสต่างๆ

5.โปรตีน หรือเนื้อสัตว์ (ไขมันต่ำ)
- เลือกปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
- เลือกเนื้อล้วน ไม่ติดหนัง และมัน
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรจำกัดปริมาณไข่แดง เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

6.ไขมัน ของหวาน แอลกอฮอล์ อาหารที่มีเกลือสูง
- หลีกเลี่ยงขนมหวานที่มีทั้งน้ำตาลและไขมันสูง เช่น คุกกี้ เค้ก ไอศกรีม เป็นต้น
- หากต้องการรสชาติหวานอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- จำกัดไขมันที่จะใช้ปรุงอาหารแม้จะเป็นน้ำมันพืช
- หลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น และเนยสด
- จำกัดกะทิ - หลีกเลี่ยงการทอด และผัดที่ใช้น้ำมันมาก
- ปรุงอาหารโดยวิธี ตุ๋น ต้ม นึ่ง ย่าง อบ ยำ
- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองที่มีส่วนผสมของเกลือสูง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งให้พลังงานใกล้เคียงกับไขมัน และร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นไขมัน(ไตรกีเซอร์ไรด์)ได้