1.1.09

อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน

อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน

ก้าวแรกในการนำไปสู่การกินอย่างมีคุณภาพ
อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานคือ อาหารทั่วไปที่ไม่แตกต่างจากอาหารที่ทุกคนในครอบครัวควรรับประทาน แต่เป็นอาหารที่มีความหลากหลายที่ร่างกายต้องการครบถ้วนและสมดุล จึงเป็นอาหารที่ทุกคนในครอบครัวสามารถรับประทานร่วมกับผู้ป่วยได้ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเสมอคือปริมาณและชนิดของอาหารที่ควรรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณและชนิดของแป้งและไขมัน เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดรวมถึงการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ


นอกจากนี้ สิ่งที่ควรปฎิบัติให้เป็นนิสัยคือการรับประทานอาหารมื้อหลักหรืออาหารว่างให้เป็นเวลาทุกวัน และรับประทานในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวัน ไม่งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ผู้ป่วยสามารถที่จะลองอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ได้เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจถ้าต้องการลดน้ำหนัก ให้ลดอาหารที่รับประทานในแต่ละวันแต่ไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้รับประทานเกินอัตราในมื้อต่อไป ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ

ผู้เป็นเบาหวานอาจใช้ปิรามิดแนะแนวอาหารหรือธงโภชนบัญญัติของไทยเป็นแนวทางเลือกรับประทานอาหารได้หลากหลายและสมดุล เนื่องจากไม่มีอาหารชนิดใดชนิดเดียวที่จะให้สารอาหารครบถ้วน ควรเลือดรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ทุกวัน เพื่อให้ได้พลังงานและคุณค่าที่พอเหมาะกับร่างกายของแต่ละคนซึ่งขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ ขนาดรูปร่าง และระดับกิจกรรมการทำงานในแต่ละวัน ปรึกษานักโภชนบำบัดเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง รวมถึงระดับพลังงานที่เหมาะสมในการควบคุมเบาหวามอย่างมีคุณภาพ

สิ่งที่ผู้เป็นเบาหวานควรให้ความสนใจกับฉลากโภชนาการ

- ควรเปรียบเทียบปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคกับหมวดอาหารแลกเปลี่ยนซึ่งโดยปกติจะไม่เท่ากัน
- ปริมาณคาโบร์ไฮเดรตทั้งหมดและปริมาณน้ำตาล จะช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถแลกเปลี่ยนอาหารประเภทขนมหวานได้เล็กน้อยในบางโอกาส
- ปริมาณพลังงาน ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอล สำหรับผู้ที่ต้องการนับพลังงานและไขมัน รวมถึงผู้ที่ต้องการควบคุมคอเลสเตอรอลและน้ำหนักตัว
- ปริมาณโซเดียมเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโรคความดันและลดความเสี่ยงของโรคไต

แนวทางการบริโภคเพื่อสุขภาพประจำวัน

1.ข้าว/แป้ง/ถั่ว/เมล็ดธัญพืช
- ควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือหรือขนมปังที่ทำจากแป้งที่ไม่ได้ขัดสีเพื่อให้ร่างกายได้รับเส้นใยอาหารมากขึ้น
- ธัญพืช เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เป็นแหล่งของใยอาหาร
- เลือกอาหารว่างที่มีไขมันต่ำ เช่น ข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง ขนมปัง ธัญพืช เป็นต้น

2.ผัก
- เลือกรับประทานผักให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการผัดผักด้วยน้ำมันมากๆหรือการเติมซอสที่เค็มจัด

3.ผลไม้
- เลือกผลไม้สดแทนน้ำผลไม้ เพราะจะได้กากใยอาหารมากกว่า
- ถ้าเลือกน้ำผลไม้แทนผลไม้สด ควรเป้นน้ำผลไม้ 100 %

4.นม และผลิตภัณฑ์นม(พร่อง หรือขาดไขมัน)
- เลือกนม และผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย นอกจากให้โปรตีนสูงแล้ว ยังให้แคลเซี่ยมสูงด้วย
- หลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรสต่างๆ

5.โปรตีน หรือเนื้อสัตว์ (ไขมันต่ำ)
- เลือกปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
- เลือกเนื้อล้วน ไม่ติดหนัง และมัน
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ควรจำกัดปริมาณไข่แดง เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

6.ไขมัน ของหวาน แอลกอฮอล์ อาหารที่มีเกลือสูง
- หลีกเลี่ยงขนมหวานที่มีทั้งน้ำตาลและไขมันสูง เช่น คุกกี้ เค้ก ไอศกรีม เป็นต้น
- หากต้องการรสชาติหวานอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- จำกัดไขมันที่จะใช้ปรุงอาหารแม้จะเป็นน้ำมันพืช
- หลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น และเนยสด
- จำกัดกะทิ - หลีกเลี่ยงการทอด และผัดที่ใช้น้ำมันมาก
- ปรุงอาหารโดยวิธี ตุ๋น ต้ม นึ่ง ย่าง อบ ยำ
- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองที่มีส่วนผสมของเกลือสูง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งให้พลังงานใกล้เคียงกับไขมัน และร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นไขมัน(ไตรกีเซอร์ไรด์)ได้