โรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารเป็นคำที่ใช้เรียกภาวะผิดปกติที่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อืดแน่น เกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร บางรายรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย อาจมีอาการจุก เสียด คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นถ้าได้รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร อาการที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเรื้อรัง มีระยะที่โรคสงบไปได้เองเป็นช่วง ๆ
อาการเหล่านี้อาจเกิดในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร , ลำไส้เล็กส่วนต้น หรืออาจในคนที่ไม่มี แผลก็ได้ ซึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดแผลอยู่ที่ความผิดปกติของ กรดในกระเพาะอาหารที่เพิ่มขึ้น และ กลไกธรรมชาติในการป้องกันการเกิดแผลเสียไป
ในปัจจุบัน พบว่าแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่อาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหาร มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้เกิดแผลขึ้น นอกจากนี้ยังมียาแอสไพริน ยาลดการอักเสบ (Non-steroidal antiinflammatory drugs:NSAIDs) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลได้บ่อย
มะเร็งกระเพาะอาหาร
อาการโรคกระเพาะในบางรายอาจเกี่ยวข้องกับมะเร็ง กระเพาะอาหาร ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มี อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีด คลำได้ก้อนผิดปกติบริเวณลิ้นปี่ กลืนลำบาก มีประวัติมะเร็งทางเดินอาหารในครอบครัว หรือ เริ่มเกิดอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลดีหลายวิธี นอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว การตรวจ X-ray กลืนสารทึบรังสี และการส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหาร สามารถตรวจพบแผล เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารตรวจหาเซลมะเร็ง และตรวจหาเชื้อ H. pylori ได้
การรักษา
การรักษาทำได้โดย
การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ปล่อยให้หิว ไม่รับประทานอิ่มเกินไป
พยายาม เลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการ เช่น อาหารรสเผ็ด กาแฟ งดเหล้า งดบุหรี่
หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน NSAIDs สเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น และ
ลดความเครียด ร่วมกับ
การใช้ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างเหมาะสม
ที่มา : นพ.พรเทพ วรวงศ์ประภา อายุรแพทย์