คน "วัยทอง" ระวังโรครุม
ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง"น.พ.นันศักดิ์ ศุกระฤกษ์?เผยผู้บริหารวัยล่วงเลยเข้าสู่วัยทอง ตัดสินใจสั่งการล่าช้า ก่อตัวไปมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานและครอบครัวที่บ้าน จนเกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ เสี่ยง 10 โรคร้ายรุมเร้า ต้นเหตุทำให้อายุสั้นกว่าผู้หญิงถึง 5 ปี แนะควรไปหาหมอตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน หากเข้าใจและยอมรับตัวเอง รวมทั้งคนใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ด้วยความห่วงใยอย่างดีเยี่ยม หรือโด๊ปฮอร์โมนเพศชายเสริม จะขจัดปัญหาให้หมดไปได้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.พ.พันศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ประธานชมรมคุณภาพ ชีวิตวัยทอง ได้กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "สมองใส วัยทอง"
คนกลุ่มวัยทองทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะคนทำงานระดับผู้บริหารหรือหัวหน้างานช่วงอายุตั้งแต่ 40-60 ปี จะมีความเครียดสะสม อารมณ์ สมาธิ ความจำและการตัดสินใจล่าช้าผิดพลาด มักมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และจะเกิดปัญหาครอบครัวตามมา สาเหตุที่สำคัญเกิดมาจากภาวะฮอร์โมนบกพร่อง"วัยทองเป็นวัยหนึ่งของชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ รวมทั้งการปรับตัวเข้ากับสังคม เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ที่ควบคุมการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดได้ทั้งในหญิงและชายวัยทอง ในผู้หญิงเรียกกันว่าเป็นช่วง "เลือดจะไปลมจะมา"
ส่วนในผู้ชายเรียกว่า ชายวัยทอง หรือ (PADAM) ซึ่งจะเกิดอาการ อารมณ์ปรวนแปร รู้สึกซึมเศร้า เหงา ไม่สนุกสนานรื่นเริง มองโลกในแง่ร้าย โกรธฉุนเฉียวง่าย อะไรที่เคยทนได้ก็จะทนไม่ได้ นอนไม่หลับหรือนอนแล้วตื่นง่าย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการบริหารงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานของตนเอง การสั่งการ การตัดสินใจ โดยเป็นปัญหาที่พบมากในกลุ่มเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อปัญหาครอบครัวตามมาด้วย เพราะว่าเมื่อเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวทำอะไรไม่ได้ดังใจแล้ว อาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสามีกับภรรยา ถ้าเป็นคนโสดจะมีปฏิกิริยากับคนรอบข้าง ทำให้เกิดภาวะเครียดทางด้านร่างกายและ จิตใจสะสมอย่างต่อเนื่อง" น.พ.พันศักดิ์ กล่าว ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวต่อว่า
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากคนวัยทองมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของชีวิต รู้ว่าผู้หญิงในวัยนี้จะมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศหญิง เพราะรังไข่จะทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้นรังไข่จะหยุดทำงานและฮอร์โมนเพศหญิงจะหมดไปจนทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา ส่วนฝ่ายชายแม้ว่าฮอร์โมนจะไม่หมดไปเลยเหมือนผู้หญิง แต่หลังจากอายุ 40 ปี ไปแล้ว ระดับฮอร์โมนเพศชายจะผลิตน้อยลงทุกวัน ๆ และหากฮอร์โมน เพศชายต่ำกว่าค่าสูงสุดที่ควรจะเป็นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือบางคนอาจ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเกิดอาการต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้หญิง แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะเข้าใจว่าผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นวัยทอง ผู้ชายจึงไม่ไปพบแพทย์ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้พบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ชายนั้นจะสั้นกว่าผู้หญิง 5 ปี โดยผู้ชายจะเสียชีวิตเร็วกว่าด้วยโรคต่าง ๆ ที่เป็น
ผลเนื่องมาจากภาวบกพร่องของฮอร์โมนเพศชาย โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการพร่องฮอร์โมนเพศชาย อาทิ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม ความจำเสื่อม เครียด นอนไม่หลับ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคต่อมลูกหมาก และโรคกระดูกพรุน แต่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดโรคก่อนและต้องกินยาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจในระบบต่าง ๆ ของร่างกายแล้วทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งเสริมหรือเติมแต่งให้อยู่ในสมรรถภาพที่ดี โดยได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การปฏิบัติงานสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้างและคนในครอบครัวก็จะดีขึ้นน.พ.พันศักดิ์ กล่าวอีกว่า
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้รับรองฮอร์โมนเพศชายชนิดธรรมดาที่เรียกว่า เทสโทสเตอโรน อันเดคาโนเอท ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดรับประทานเข้าสู่กระแสเลือด โดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับ แล้ว สามารถออกฤทธิ์ช่วยเสริมแทนฮอร์โมนเพศชายที่ขาดไปได้ โดยเมื่อคนไข้ได้รับเข้าไปแล้ว ทุกอย่างที่เคยเสียไปก็จะกลับมากระฉับกระเฉง แข็งแรง อารมณ์ดี สดใสขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คนรอบข้างควรเข้าใจธรรมชาติของคนวัยทอง ที่มักมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว เครียด ซึ่งบางครั้งบางคราวก็ไม่รู้ตัว แต่ผู้หญิงกับผู้ชายจะมีปฏิกิริยาแสดงอารมณ์เครียดที่แตกต่างกัน คือผู้ชายจะเข้าถ้ำ ผู้หญิงชอบพรรณนา เนื่องจากเวลาเครียดผู้ชายจะนั่งซึม ทำตัวหงอย ไม่ยอมพูดยอมจา และคิดอะไรในทางที่ไม่ดี
ส่วนผู้หญิงมักจะพูดตลอดเวลา ทำให้เวลาเครียดผู้หญิงจะพูดมาก ส่วนผู้ชายไม่อยากพูด จึงเกิดการทะเลาะ เบาะแว้งทั้งที่ทำงานและที่บ้านประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวด้วยว่า วิธีช่วยคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้ชายวัยทอง คนรอบข้างสามารถสังเกตได้จากอาการที่เริ่มเปลี่ยน แปลงไป จากไม่เคยหงุดหงิด ก็จะเริ่มหงุดหงิด เคยพูดเล่นด้วยก็ไม่ได้ เริ่มทำงานไม่กระฉับกระเฉง เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ถ้าเห็นอาการเหล่านี้ อาจลองชักจูงให้ไปตรวจสุขภาพ เพื่อให้หมอตรวจเช็กเลือด ดูระดับฮอร์โมนที่ขาด หรือสามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ตามร้านขายยา เพื่อตรวจสอบดูว่าอยู่ในภาวะชายพกพร่องฮอร์โมนหรือไม่ และถ้าผู้ชายกลุ่มนี้มีความเข้าใจและยอมรับก็จะไปพบกับแพทย์ต่อไป แต่หากยังไม่ยอมรับ คนใกล้ชิดต้องให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้คำพูดทางบวกด้วยวิธีที่นิ่มนวลเชิงห่วงใย ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับชายวัยทองได้..
ที่มา : sanook.com