9.12.12

โรคปวดศีรษะ จากความเครียด (1)

โรคปวดศีรษะ จากความเครียด
โรคปวดศีรษะจากความเครียด เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของผู้ที่มีอาการปวด ศีรษะ มักจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานเป็นวัน ๆ จนถึงเป็นสัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน โดยจะปวดอย่างคงที่ ไม่แรงขึ้นกว่าวันแรก ๆ ที่ปวด จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่จะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
“โรคนี้มีอาการปวดศีรษะ ต่อเนื่องนานเป็นวันๆ จนถึงสัปดาห์”
· ชื่อภาษาไทย โรคปวดศีรษะจากความเครียด โรคปวดศีรษะแบบตึงเครียด
· ชื่อภาษาอังกฤษ Tension-type headache (TTH), Tension headach, Muscle contraction hedache, Psychogenic headache
· สาเหตุ
อาการปวดศีรษะของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผลมาจากมีการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากสิ่งเร้ากระตุ้นที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของประสาทขึ้นตรงประสาทส่วนกลาง (อาจเป็นส่วนของไขสันหลัง หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า) แล้วส่งผลกลับมาที่กล้ามเนื้อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี เช่น เอนดอร์ฟิน ซีโรโทนนิน ) ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
ส่วนใหญ่มักพบว่ามีสาเหตุกระตุ้น อดนอน ตาล้าตาเพลีย (จากใช้สายตามากเกิน)
นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรควิตกกังวลซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือการปรับตัว บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน
· การแยกโรค
อาการปวดศีรษะที่เป็นต่อเนื่องกันเป็นวัน ๆ ขึ้นไป ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
1. ไมเกรน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง ) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า นาน 4 -72 ชั่วโมง มักจะเป็น ๆ หาย ทุกครั้งที่มีอาการกำเริบ มักจะเกิดจากสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อดนอน อดข้าว อากาศร้อนหรือเย็นจัด อาหารบางชนิด เหล้า ผงชูรส โดยมากจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะจากความเครียดร่วมด้วย
2. เนื้องอกสมอง
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอตอนเช้า พอสาย ๆ ก็ทุเลาไป ไม่ปวดต่อเนื่องทั้งวันอาการดังกล่าวจะเป็นแรงขึ้นทุกวันจนผู้ป่วยต้องสะดุ้ง ตื่นตอนเช้ามืดเพราะรู้สึกปวด และจะปวดนานขึ้นทุกวันจนในที่สุดจะปวดตลอดเวลา ซึ่งกินยาแก้ปวดไม่ทุเลาในระยาต่อมาอาจมีอาการอาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชัก ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
3. โรคทางสมองอื่น ๆ
เช่น เลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ปวด บางคนอาจมีไข้สูง ซึม ชัก ร่วมด้วย
4. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงและฉับพลันทันที ตาพร่ามัว แสบตาข้างที่ปวดจะมีสิ่งรบกวน ตาแดง ๆ ตรงบริเวณตาขาว (รอบ ๆ ตาดำ) อาการปวดจะเป็นต่อเนื่องเป็นวัน ๆ ซึ่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา