9.12.12

โรคปวดศีรษะ จากความเครียด (จบ)

· การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉันโรคนี้จากลักษณะอาการ และประวัติเกี่ยวกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ การคร่ำเคร่งกับงาน
นอกจากมีอาการไม่ชัดเจนและสงสัยเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง จึงจะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ผู้ป่วยและญาติจึงควรบอกเล่าประวัติ และอาการเจ็บป่วยอย่างละเอียด เช่น ปัญหาครอบครัว (สามีมีภรรยาน้อย เล่นการพนัน การทะเลาะกัน) ปัญหาการงาน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉันได้ถูกต้อง) และไม่หลงไปส่งตรวจพิเศษให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น


· การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ยาบรรเทาปวดร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อหรือยากล่อมประสาท
ถ้าพบว่ามีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าร่วมด้วย ก็จะให้การรักษาภาวะเหล่านี้ไปพร้อมกัน และอาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมไปด้วย เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด การกระตุ้นประสาท ด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม เป็นต้น
ในรายที่มีอาการกำเริบมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งปวดนานมากกว่า 3 - 4 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน หรือฟลูออกซีทีน ทุกวันติดต่อกันนาน 1 – 3 เดือน

· ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด นอกจากทำให้วิตกกังวล ไม่สุขสบาย และอาจสิ้นเปลืองเงินทองและเวลาในการแสงหาบริการ ซึ่งผู้ป่วยและญาติมักคิดว่าเป็นโรคร้ายแรง จึงย้ายโรงพยาบาลที่รักษาไปเรื่อย ๆ

· การดำเนินโรค
อาการปวดแต่ละครั้งจะเป็นนานเป็นชั่วโมง ๆ จนเป็นสัปดาห์ หรือแรมเดือน เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะทุเลาไปได้ แต่เมื่อขาดการักษา และมีสิ่งกระตุ้นก็อาจกำเริบได้อีก จึงมักจะเป็น ๆ หาย ๆ ได้บ่อย

· ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อย คือ ประมาณร้อยละ 80 -90 ของผู้ที่ปวดศีรษะจะมีสาเหตุจากโรคนี้
พบได้ในคนทุกวัย เริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว (มีโอกาสน้อยมากที่จะมีอาการครั้งแรกหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว) และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20 -50 ปี
พบว่าผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5 - 2 เท่า

อาการ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ หรือท้ายทองทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด ต่อเนื่องนานครั้งละ 30 นานถึง 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มักจะปวดนานเกิน 24 ชั่วโมง บางคนอาจปวดนานติดต่อกันทุกวัน เป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นแรมเดือนโดยที่อาการปวดจะเป็นอย่างคงที่ ไม่ปวดรุนแรงขึ้นจากวันแรก ๆ ที่เริ่มเป็น ส่วนมากจะเป็นการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ พอรำคาญหรือรู้สึกไม่สุขสบาย ส่วนมากที่อาจปวดรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หรือตาพร่าตาลาย และไม่ปวดมากขึ้นเมื่อถูกแสง เสียง กลิ่น หรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย
อาการปวดศีรษะอาจเริ่มเป็นตั้งแต่หลังตื่นนอนหรือในช่วงเช้า ๆ บางคนอาจเริ่มปวดตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมากหรือขณะหิวข้าว หรือมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือนอนไม่หลับ

การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย ควรกินยาพาราเซตามอลบรรเทา 1 – 2 เม็ด นั่งพักนอนพัก ใช้นิ้วบีบนวด

ควรไปปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
· มีอาการปวดรุนแรง หรืออาเจียนรุนแรง
· มีอาการปวดมากตอนเช้ามือ จนสะดุ้งตื่น หรือปวดแรงขึ้นและนานขึ้นทุกวัน
· มีอาการเดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือชักกระตุก
· มีอาการตาพร่ามัว และตาแดงร่วมด้วย
· มีอาการปวดศีรษะหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
· ดูแลตนเอง 2 -3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
· มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะรักษาตนเอง

การป้องกัน
ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้กำเริบโดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่าปล่อยให้หิว อย่าคร่ำเคร่งกับงานมากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้สายตาจนเมื่อยล้า ออกกำลังเป็นประจำ หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ ถ้าจำเป็นควรกินยาป้องกันตามที่แพทย์แนะนำ


ที่มา : นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ