กล้ามเนื้อทับเส้นประสาท
ถาม
ขอสอบถามพี่ๆที่พอจะมีข้อมูลของอาการกล้ามเนื้อทับเส้นประสาทจะมีอาการยังไงบ้างครับ แล้วขั้นตอน+วิธีการรักษาจะต้องทำยังไงบ้างครับ ค่าใช้จ่ายสูงมากหรือเปล่าครับ
ตอบ
มันก็มีอยู่บ้างนะ ที่เกิดอาการกล้ามเนื้อทับเส้นประสาท แต่ความจริงกล้ามเนื้อกับเส้นประสาทมันก็อยู่ร่วมกันมานานแล้ว ไม่ได้เกิดอาการทับกันเองโดยไม่มีสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดภายหลัง การมีปัญหา ที่ตัวเส้นประสาทเอง ในระดับที่เหนือขึ้นไป จากจุดที่มีปัญหา กล้ามเนื้อทับเส้นประสาท จริง ๆ อาจเป็นผลจากการที่ร่างกายมีกลไกที่จะป้องกันการบาดเจ็บซึ่งอาจเกิดต่อเนื่องต่อเส้นประสาท เช่น เพื่อลดและป้องกันไม่ให้เส้นประสาทที่มีปัญหาถูกยืดมาก ๆ ที่มักพบได้บ่อย คือคนไข้มีปัญหาหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทข้าง ๆ เช่น ในระดับ เอวข้อที่ 4-5 ผู้มีปัญหานี้จริง ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดที่กล้ามเนื้อก้นด้านที่มีการกดทับของเส้นประสาทหลัง อาจปวดที่ก้นและร้าวลงขา หรือปวดเฉพาะที่ก้นเท่านั้นก็ได้ โดยเส้นประสาทที่ลอดใต้กล้ามเนื้อก้นมัดนั้นทอดยาวมาจากเส้นประสาทเดียวกันกับระดับที่เกิดปัญหาที่เอว แต่บางรายก็ไม่มีอาการดังกล่าว ความจริงแล้วตัวกล้ามเนื้อเกร็งขึ้นเพื่อยึดไม่ให้เส้นประสาทถูกยืดมาก ถ้ารักษาที่ระดับเอว หรือที่สาเหตุแรกได้ถูกจุด
อาการปวดตรงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ก้นก็จะลดลงไปได้ การเกิดอาการลักษณะนี้ก็สามารถพบได้ที่กล้ามเนื้อ บ่า หรือ สะบัก เช่นกัน ถ้าเส้นประสาทในระดับคอด้านเดียวกันถูกกดทับโดยหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือตัวกระดูกสันหลังเอง หรือแม้แต่การมีภาวะกระดูกเสื่อม มีภาวะแคลเซี่ยมหรือกระดูกงอกหนาตัวขึ้นพอดี หรืออาจมีเศษกระดูกที่กร่อนตัวออกมากมากดทับเส้นประสาทระดับใกล้เคียงนั้นก็ได้ กล้ามเนื้อที่ปกคลุมแนวเส้นประสาทที่มีปัญหานั้น ก็สามารถเกร็งตัว ขึ้นได้ อาการปวดกล้ามเนื้อก็จะต่างไปจากอาการปวดเมื่อยหลังการทำงานทั่วไป อาการปวดล้า/ร้าว ไปตามแขน
ส่วนอก สีข้าง ร่วมกับอาการชา ก็อาจมีได้ บางรายสามารถบรรเทาความเจ็บปวดด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด แต่บางกรณีก็ต้องผ่าตัดเอาสาเหตุออก เช่น ชิ้นส่วนกระดูกที่งอก หรือ หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนตัวออกมาทับ หรือเพิ่มความหนาให้หมอนรองกระดูกในกรณีที่กระดูกคอเสื่อมและทรุดตัวลงมากดทับเส้นประสาทคอระดับต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ขึ้นกับวิธีการตรวจ และ แนวทางการรักษา ถ้ารักษาแบบไม่ใช้ยา ไม่ผ่าตัด เช่น วิธีทางกายภาพบำบัด ก็ราคาไม่แพง หลักร้อย ถึง พัน ต้น ๆ และไม่ต้องเสี่ยงจากการได้รับผลข้างเคียงของการใช้ยา แต่ถ้าสาเหตุที่เกิดต้องแก้ไขด้วยวิธีผ่าตัดเท่านั้น ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น แพงมากน้อยก็ขึ้นกับวิธีการและเทคโนโลยี รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดด้วย มักเริ่มที่หลักหมื่น ถึงหลักแสนได้ การประมาณค่ารักษาขึ้นกับสภาพอาการและสาเหตุของปัญหาเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว หรือ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดมักได้รับคำแนะนำ คำอธิบายเกี่ยวกับแนวทางการรักษา การพยากรณ์โรค จากแพทย์ และการเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อ ร่วมกับแนวทางการปฎิบัติตัวที่ถูกต้องจากนักกายภาพบำบัด หรือนักเวชศาสตร์ฟื้นฟู
แต่ตัวกล้ามเนื้อเองก็อาจบวม อักเสบและกดทับเส้นประสาทได้ โดยไม่ต้องมีกลไก ของปัญหาในลักษณะข้างต้น โดยอาจมีสาเหตุมาจากการมีแผลเปิด มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เกิดการติดเชื้อโดยตรงที่กล้ามเนื้อที่ปกคลุมเส้นประสาทอยู่ เป็นผลทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับกรณีแรกได้