ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น แต่ถ้าความกังวลใจมันทำให้คุณเป็นทุกข์กลุ้มใจว่า...คุณกำลังเผชิญกับมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่หรือไม่? ก็ต้องอ่านดูก่อนละกัน รู้ไว้ก่อนไม่เสียหาย!
หากคุณกำลังกังวลใจและสงสัยว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่หรือไม่ จะรับมือกับมันอย่างไร และถ้าไม่ใช่มะเร็งลำไส้ใหญ่ แล้วคุณกำลังมีปัญหา หรือโรคอื่นที่กำลังคุกคามคุณอยู่หรือไม่ ควรไปตรวจอย่างละเอียดได้หรือยัง ควรทำอย่างไร ติดต่อสอบถามใครดี บทความนี้น่าจะมีส่วนช่วยคุณให้คุณคลายกังวลไปได้บ้างไม่มากก็น้อย
ข้อมูลทางสถิติ
ในประเทศไทยพบว่าเกิดขึ้นกับผู้ชายมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับและปอด เกิดกับเพศหญิง มากเป็นอันดับ 5 หรือเฉลี่ยพบได้ใน 8 -10 คน จากประชากร 100,000 คน
ปัจจัยเสี่ยง
อายุและกรรมพันธุ์ถูกกล่าวถึงเป็นข้อต้น ๆ 1,3,5 ผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ และลำไส้ใหญ่ ผู้เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ทั้งลำไส้ส่วนขวาง (colon) ลำไส้ใหญ่ และส่วนอื่น ๆ เช่น รังไข่ ทรวงอก ผู้เคยตรวจพบมีติ่งเนื้องอกในลำไส้ ผู้มีภาวะแผลในลำไส้ใหญ่เรื้อรัง (ulcerative colitis หรือ Crohn’s disease)5 นอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์แล้ว ยังเกี่ยวข้องมาก ๆ กับพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ1,3 เช่น ผู้ที่ทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงอย่างถูกสุขอนามัย ทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาก แต่ทานอาหารประเภทเส้นใยน้อย และทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเป็นประจำ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคนี้
อาการ
ลักษณะการขับถ่ายจะเป็นแปลงไป หรือไม่เป็นปกติ อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดินบ่อย ๆลักษณะของอุจจาระมีเลือดเก่า ๆ หรือมูกปนออกมา มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อเรื้อรัง อาจมีอากาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการอาเจียนและคลำพบก้อนที่หน้าท้อง แสดงว่าโรคได้มีการดำเนินไปมากแล้ว1 ข้อมูลที่ได้เพิ่มจากแหล่งอ้างอิงยังกล่าวถึงขนาดของก้อนอุจจาระที่เรียวเล็กลงกว่าปกติ และสีของอุจจาระทั้งแบบแดงสด หรือดำเข้ม อาการปวดท้องจากภาวะมีแก๊สในลำไส้มาก รู้สึกจุกเสียด หรือเกิดอาการตะคริว ก็ถือเป็นอาการแสดงและลักษณะอาการที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าคุณอาจเป็นโรคนี้5
การรักษา1,3
· การผ่าตัด ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรืออาจเจาะเป็นรูแล้วใส่เครื่องมือลงไปตัดออก
· รังสีบำบัด อาจให้ก่อนทำการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งเล็กลง หรือให้หลังทำการผ่าตัดแล้วเพื่อควบคุมมะเร็งที่แพร่กระจายออกไป
· เคมีบำบัด ให้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัด ซึ่งอาจให้ทางเส้นเลือด หรือรับประทาน
· ชีวบำบัด การสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ในระหว่างการวิจัย อาจมีผลงานให้ปรากฏในอนาคตอันใกล้นี้
การป้องกัน
ควรรับประทานอาหารประเภทเส้นใย เช่น พวกผักผลไม้สดให้มากหน่อย ทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และทานอาหารที่มีสารเบต้าแคโรทีนมากขึ้น ซึ่งพบมากในพืชที่มีสีเหลือง สีส้ม เช่น แครอท มะละกอสุก ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน แตงโม แคนตาลูป และในผักสีเขียวบางชนิด เช่น บร็อกโคลี่ มะระ ผักบุ้ง ต้นหอม ผักคะน้า ผักตำลึง เป็นต้น2
ควรหมั่นสังเกตการพฤติกรรมการขับถ่ายและลักษณะของอุจจาระ สังเกตน้ำหนักตัว หากมีน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติต้องสงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีโรคมะเร็งได้ทุกชนิด ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจอุจจาระ เพื่อหาเลือดปีละครั้ง หากพบมีเลือดในอุจจาระ ควรรับการตรวจทางกล้องผ่านทางทวารหนักทันที มีผู้วิจัยว่าถ้าพบเลือดจากการตรวจแบบนี้ตั้งแต่เริ่มแรกก็จะสามารถลดอัตราการตายลงได้ถึง 25 % ทีเดียว 1
วิธีการตรวจหาเลือดในอุจจาระแบบใหม่ 1
การตรวจแบบใหม่มีชื่อเรียกว่า Immuno Chemical Test ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องงดอาหาร สามารถทานอาหารได้ตามปกติ วิธีการตรวจจะใช้อุจจาระเพียงนิดเดียวละลายในน้ำยา แล้วนำมาหยดลงแถบทดสอบสีขาว หากมีเลือดปนแถบทดสอบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินทันที ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าและมีค่าน้ำยา พร้อมแถบทดสอบ ราคาเพียง 35 บาท