26.9.12

สุขภาพดีด้วยการบริจาคโลหิต

สุขภาพดีด้วยการบริจาคโลหิต

นอกจากความภาคภูมิใจและได้ช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เชื่อไหมว่าการบริจาคโลหิตยังช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วย

ร่างกายได้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ กระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานดีขึ้นลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉลียบพลัน ได้ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 3 เดือน

โลหิต ประกอบด้วยพลาสมา (เนื้อเหลือง) และเม็ดโลหิต คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว คือ 5 – 6 ลิตร (สำหรับผู้ชาย) และ 4 – 5 ลิตร (สำหรับผู้หญิง) หรือประมาณ 17 -18 แก้วน้ำ ไขกระดูกเป็นอวัยวะตั้งต้นที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดโลหิต 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดเลือดโลหิต เพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันไปในร่างกาย

เม็ดโลหิตแต่ละชนิดมีอายุการทำงาน คือ เม็ดโลหิตแดง มีอายุ 120 วัน เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต มีอายุ 5 -10 วัน เมื่อถึงเวลาที่กำหนดเม็ดโลหิตจะถูกทำลายและขับถ่ายออกมาในรูปของเหงื่อปัสสาวะ และอุจจาระ หลังจากนั้นไขกระดูก จึงสร้างเซลล์เม็ดโลหิตชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้โดยไม่มีวันหมดปริมาณโลหิตที่มีในร่างกาย ถูกสร้างขึ้นมาให้เกินกว่าความต้องการใช้ที่แท้จริง เพราะร่างกายคนเรามีโลหิตปริมาณ 17 -18 แก้วน้ำ ร่างกายต้องการใช้เพียง 15 – 16 แก้วน้ำเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 2 – 3 แก้วน้ำ สามารถบริจาคให้กับผู้อื่นได้ทุก 3 เดือน

ดังนั้นการบริจาคโลหิต ซึ่งนำโลหิตออกจากร่างกายประมาณ 350 – 450 มิลลิลิตร จึงเป็นการนำโลหิตสำรองออกมาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ร่างกาย เพราะไขกระดูกจะสร้างโลหิตขึ้นมาทดแทนปริมาณที่ถูกถ่ายเทออกไป และที่สำคัญทำให้เกิดประโยชน์กับผู้บริจาคโลหิตหลาย ๆ อย่างด้วยกัน อาทิ
· ร่างกายได้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ ๆ ซึ่งแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า ทำให้เม็ดโลหิตแดงลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ เม็ดโลหิตขาวทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น และเกล็ดโลหิตซ่อมแซมรอยฉีกขาดในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
· กระตุ้นการทำงานของไขกระดูก เปรียบเสมือนการออกกำลังกาย ให้กับไขกระดูกได้ทำงานได้ดีขึ้น
· ลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การวิจัยในประเทศฟีนแลนด์ พบว่า การบริจาคโลหิตช่วยลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในเพศชายได้ถึง 88 เปอร์เซ็นต์ การสูญเสียโลหิตอย่างสม่ำเสมอจากการบริจาคโลหิตช่วยใหการสะสมธาตุเหล็กร่างกายลดลง เพราะเจ้าตัวธาตุเหล็กนี้ไม่ทำให้ไขมันทำปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจน ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันได้การบริจาคโลหิตช่วยให้ร่างกายลดภาวการณ์สะสมธาตุเหล็ก ซึ่งเท่ากับลดความเสี่ยงโรคหัวใจลดด้วยนั่นเอง การบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะช่วยให้ผู้บริจาคโลหิตมีสุขภาพดีขึ้นได้ด้วยตนเอง
· ได้ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 3 เดือน
- ทำให้ทราบหมู่โลหิต ทั้งระบบ A B O และระบบ Rh
- โลหิตทุกยูนิตที่ได้รับบริจาค ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเชื้อต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการเหมือนกับการที่ผู้บริจาคโลหิตได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี , ซิฟิลิสส และเอดส์
- ได้รับการตรวจสารเคมีในโลหิต (บริการตรวจให้ปีละ 1 ครั้ง) แจ้งความจำนงที่แพทย์ผู้ตรวจวัดความดันโลหิต ในวันจันทร์ ศุกร์ เวลา 08.00 – 10.00 น. โดยต้องงดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืนมาก่อน
เมนูอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เหมาะสมสำหรับผู้บริจาคโลหิต
แกงจืดเลือดหมู
ผัดถั่วงอกกับเลือดหมู และตับหมู
ตับผัดขิง
แกงไก่กับมันเทศ
แกงคั่วสับปะรดกับหอยแมลงภู่แห้ง
แกงเผ็ดฟักทองกับเลือดหมู
แกงคั่วยอดมะพร้าวกับเลือดหมู
แกงเผ็ดฟักกับเลือดหมู
ผัดเผ็ดถั่วฝักยาวใส่ตับ
อาหารจานเดียว
ก๋วยจั๊บ
ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหมูและตับ
ก๋วยเตี๋ยวเครื่องในวัว
ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วตับ
ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย
ข้าวผัดเบญจรงค์

อย่าให้การบริจาคโลหิตเป็นการตรวจโลหิตในกรณีไม่มั่นใจในโลหิตของท่าน
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 0-2252-1637 , 0-2263-9600-99 ต่อ 1770, 1771, 1760, 1761


ที่มา : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย