25.9.12

โลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative)

โลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative)
บริจาคอะไรได้บ้าง

โลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative) คือ หมู่โลหิตที่ไม่มีแอนติเจน ดี (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเม็ดโลหิตแดง ในคนไทยพบว่ามีหมู่โลหิตนี้เพียง 0.3% หรือใน 1,000 คน จะพบเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งเรามักเรียกว่า “หมู่โลหิตหายาก” หรือ “โลหิตหมู่พิเศษ” นั่นเอง ฉะนั้น ผู้ที่มีหมู่โลหิตระบบนี้ต้องสนใจและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ผู้มีโลหิตหมู่พิเศษบริจาคอะไรได้บ้าง (Rh-negative)
เนื่องจากโลหิตหมู่พิเศษอาร์เอชลบ (Rh-negative) พบน้อยมากในคนไทย คือใน 1,000 คน จะพบเพียง 3 คนเท่านั้น จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรับบริจาคโลหิตหมู่พิเศษ เพื่อให้โลหิตและส่วนประกอบโลหิตเพียงพอ ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ นอกจากจะรับบริจาคโลหิตหมู่พิเศษในรูปโลหิตรวม (whole blood) แล้ว ยังมีการรับบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน ได้แก่ รับบริจาคเฉพาะเกล็ดโลหิตและรับบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดงเตรียมไว้เพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยตามความจำเป็นที่ใช้ในการรักษาเฉพาะโรค
การบริจาคเกล็ดโลหิต (SINGLE DONOR PLATELETS)
เกล็ดโลหิต เป็นเซลล์เม็ดโลหิตชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็กมาก แต่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง เพราะช่วยทำให้โลหิตแข็งเป็นลิ่มและอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิตเวลาที่ถูกของมีคมบาด โดยปกติเกล็ดประมาณ 1 – 5 แสน / 1 ลูกบาศก์มิลลิลิตร ถ้ามีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำมากจะทำให้เกิดโลหิตออกง่าย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่ทำให้เกล็ดโลหิตต่ำ เช่น โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูกไม่ทำงานโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น
ปัจจัยมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้เกล็ดโลหิตในการรักษาซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะเปิดรับบริจาคเกล็ดโลหิตเฉพาะที่มีการร้องขอจากโรงพยาบาลเท่านั้น มิได้เปิดรับบริจาคทั่วไป เหมือนรับบริจาคโลหิตหรือพลาสมา ทั้งนี้เพราะเกล็ดโลหิตเมื่อเจาะออกมานอกร่างกายแล้ว จะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 5 วัน ตามลักษณะและกรรมวิธีในการเจาะเก็บ และต้องรักษาไว้ในตู้ซึ่งควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 22 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีการเขย่าเบา ๆ ตลอดเวลา
การรับบริจาคเกล็ดโลหิต จะใช้เครื่องมือเฉพาะที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจากแขนข้างหนึ่ง ผ่านเข้าเครื่องแยกอัตโนมัติ เพื่อแยกเกล็ดโลหิตออกจากเม็ดโลหิตแดง เมื่อได้เกล็ดโลหิตแล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ จะถูกคืนกลับเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาในการบริจาคเกล็ดโลหิต ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง

ข้อกำหนดพิเศษสำหรับผู้บริจาคเกล็ดโลหิต
- หมู่โลหิตจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต
- เส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน
- ไม่รับประทานยาแก้วปวดแอสไพริน ในระยะเวลา 5 วัน ก่อนบริจาค
- ควรเป็นผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ

การบริจาคเกล็ดโลหิตไม่ได้ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ผู้บริจาคสามารถปฏิบัติการกิจการงานได้ตามปกติยกเว้นในกรณีจำเป็น การบริจาคเกล็ดโลหิตอาจให้บริจาคได้ทุก 3 วัน แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และหลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว 1 เดือน สามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติ
การบริจาคเม็ดโลหิตแดง (SINGLE DONOR RED CELL)

การบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง คือ การรับบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง ได้จำนวน 2 ยูนิต จากผู้บริจาครายเดียว (Two unit Red Cell) ด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood cell separator) โดยเครื่องดังกล่าวจะทำการแยกเก็บเฉพาะเม็ดโลหิตแดงได้ และคืนส่วนประกอบโลหิต
อื่น ๆ เช่น น้ำเหลือง เม็ดโลหิตขาว เกล็ดโลหิต เข้าสู่ร่างกาย จากนั้นจะได้รับการชดเชยส่วนที่บริจาคออกมาด้วยน้ำเกลือ 400 มิลลิลิตร ให้กับผู้บริจาคเท่านั้น ใช้เวลาบริจาค 30 นาที
คุณสมบัติของผู้บริจาคเม็ดโลหิตแดง

คุณสมบัติเบื้องต้น เช่นเดียวกับผู้บริจาคโลหิตทั่วไป เช่น อายุระหว่าง 17 – 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาต่าง ๆ สุขภาพแข็งแรงสำหรับคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากการบริจาคโลหิตทั่วไป ดังนี้
- ชาย น้ำหนักมากว่า 59 กิโลกรัม ส่วนสูงมากกว่า 155 เซนติเมตร
- หญิง น้ำหนักมากกว่า 68 กิโลกรัม ส่วนสูงมากกว่า 165 เซนติเมตร
- มีค่าความเข้มข้นโลหิต Hct มากกว่า 40%
- มีค่า Body Index คือ ค่าอัตรส่วนระหว่างน้ำหนักต่อเพื้นที่ผิวน้อยกว่า 25
- ใช้เวลาบริจาค 30 นาที

ประโยชน์ของการบริจาคเม็ดโลหิตแดง
1. สามารถเตรียมเม็ดโลหิตได้จำนวนยูนิตมากขึ้น จากผู้บริจาคโลหิตที่มีหมู่โลหิตหายาก หรือไม่มีผู้บริจาคมากเพียงพอที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วย ถ้าให้ผู้บริจาคโลหิตบริจาคแบบปกติ
2. สามารถเตรียมโลหิตสำรองไว้สำหรับการผ่าตัดตนเองครั้งเดียวได้ 2 ถุง
3. เป็นโลหิตที่เตรียมจากผู้บริจาคโลหิตคนเดียว เป็นการลดอัตราเสี่ยงการติดเชื้อจากการรับโลหิตจากผู้บริภาคหลาย ๆ คน

ชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative Club)

เนื่องจากผู้ที่มีหมู่โลหิตอาร์เอชลบ (Rh-negative) ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยจึงเป็นปัญหาอย่างมาก ในการจัดหาโลหิตหมู่พิเศษดังกล่าวนี้ให้แก่ผู้ป่วย เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้มักประสบกับปัญหาในด้านของการจัดหาผู้บริจาคหรือไม่ก็จัดหาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงได้จัดตั้งชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative Club) ขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จนปัจจุบัน

ถ้าหากท่านมีโลหิตหมู่พิเศษ ขอเชิญสมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้บริจาคโลหิหมู่พิเศษ ได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทยในวันและเวลาราชการหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2263-9699-99 ต่อ 1753 หรือ 0-2255-4567

สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดติดต่อแจ้งชื่อและที่อยู่ได้ที่ ธนาคารเลือดโรงพยาบาลประจำจังหวัดในวันและเวลาราชการเช่นกัน หรือรับทราบข้อมูลความรู้เรื่องการบริจาคโลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative) ทางอินเตอร์เน็ท
www.redcross.or.th www.rh-negative.com E-mail : blood@.redcross.or.th

สมาชิกชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษจะได้รับ
- บัตรประจำตัวสมาชิกชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ สำหรับพกติดตัวเพื่อให้ทราบว่าเป็นผู้ที่มีโลหิตหมู่พิเศษอาร์เอชลบ (Rh-negative) หากมีเหตุจำเป็นต้องรับโลหิตในการรักษาแพทย์จะทราบได้ทันทีและให้โลหิตได้อย่างถูกต้อง
- ได้รับ “สารชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ” อย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน ซึ่งท่าน จะได้รับความรู้เรื่องหมู่โลหิตพิเศษ การดูแลสุขภาพ
- ได้รับเชิญให้ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ประจำปีของชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษการอภิปราย การบรรยายที่เป็นความรู้ด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษและครอบครัว


ที่มา : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย