ความสำคัญของธาตุเหล็กที่มีต่อการบริจาคโลหิต
การบริจาคโลหิต เป็นการนำโลหิตออกจากร่างกาย โดยเจาะออกทางเส้นโลหิตดำครั้งหนึ่ง ๆ ประมาณ 350 -450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) หรือประมาณ 6 -7 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณโลหิตในร่างกาย การเอาโลหิตออกจากร่างกายในปริมาณดังกล่าว ไปเกิดอันตรายร่างกายใด ๆ แต่จะช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานได้ดีขึ้น ในทำนองเดียวกับการออกกำลังกายที่ช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อแขนขาดีขึ้น ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น แต่ทั้งนี้หมายถึงการบริจาคโลหิตที่ไปบ่อยเกินเกณฑ์ คือทุก 3 เดือน และรักษาสมดุลให้อัตราสร้างใหม่ทดแทนเท่ากับที่เสียไป โดยเฉพาะวัตถุคือธาตุเหล็กมิฉะนั้นอาจเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้
โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก
เมื่อร่างกายต้องสูญเสียโลหิตไปเป็นปริมาณมาก ๆ เช่น ผ่าตัดใหญ่ คลอดบุตร ได้รับอุบัติเสียโลหิตมาก สตรีมีประจำเดือนที่มาผิดปกติ (ปกติประมาณ 60 -80 มิลลิลิตร / เดือน) รวมไปถึงการบริจาคโลหิต (ครั้ละ 350 -450 ม.ล.) แผลในกระเพาะอาหารที่มีโลหิตออก ริดสีดวงทวารที่มีโลหิตออกเรื้อรังหรือมีพยาธิปากขอในลำไส้ เป็นต้น ในภาวะเหล่านี้ร่างกายจะสูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ ถ้าไม่ได้รับการป้องกันและแก้ไขจะนำไปสู่การเกิดภาะวโลหิตจาง จากการสูญเสียธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กสำคัญต่อการสร้างโลหิต
โภชนาการของท่านในวันนี้อาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้บริจาคโลหิตที่มีคุณภาพได้เพราะ เหตุว่าท่านอาจได้รับธาตุเหล็กจากอาหารยังไม่เพียงพอ โปรดสำรวจดูว่าท่านได้ปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ที่จะเป็นผู้บริจาคประจำในระยะยาวได้หรือไม่ โดยไม่ประสบปัญหาเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก และโลหิตจางเสียก่อนและจะปฏิบัติตัวอย่างจึงจะดี ร้อยละ 70 ของธาตุเหล็กในร่างกายอยู่ในเม็ดโลหิตแดงในรูปที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน เมื่อเม็ดโลหิตแดงมีอายุประมาณ 120 วัน ก็จะสลายไป หรือเก็บสะสมไว้ภายในร่างกายถึงร้อยละ 97
อาหารที่มีธาตุเหล็ก
โดยปกติร่างกายได้รับธาตุเหล็กทางเดียวเท่านั้นคือ จากอาหารที่รับประทาน โดยลำไส้จะดูดซึมธาตุเหล็กได้ประมาณ 1 และ 1.5 มิลลิกรัม ในผู้ชายและผู้หญิง ตามลำดับ และจะดูดซึมได้เพิ่มขึ้นในภาวะร่างกายขาดธาตุเหล็กจะไม่เกิน 3 – 4 / กรัม
ธาตุเหล็กที่มีอยู่ในอาหารแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีอยู่ในอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อ เลือด เครื่องในและไข่และชนิดที่พบอยู่ใน พืช ผัก ผลไม้ ธัญพืช (ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวฟ่าง ฯลฯ) และถั่วต่าง ๆ สารอาหารที่มีธาตุเหล็ก อาทิ ผักใบเขียว ผักหวานสวน มะเขือพวง งาขาว งาดำ ซึ่งพืชผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกายได้ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัย
อื่น ๆ ด้วย เช่น ปริมาณธาตุเหล็กที่มีอยู่ในร่างกาย วัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต สตรีในช่วงมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะที่สูญเสียและโลหิตจาง
ยาธาตุเหล็กสำหรับผู้บริจาคโลหิต
โดยปกติร่างกายจะเสียธาตุเหล็กจากการหลุดลอกของเซลล์ผนังลำไส้ และเซลล์อื่น ๆ ไปเป็นปริมาณที่น้อยมาก คือ ประมาณ 1 มิลลิกรัม / วันในผู้ชาย และ 1.5 มิลิลกรัม / วันในผู้หญิง (เท่ากับที่ได้รับจากอาหาร) การมีประจำเดือนแต่ละเดือน ผู้หญิงจะสูญเสียธาตุเหล็ก ประมาณ 30 – 40 มิลลิกรัม ส่วนการบริจาคโลหิตแต่ะลครั้ง จะเสียธาตุเหล็กประมาณ 150 -200 มิลลิกรัม ซึ่งการสูญเสียธาตุเหล็กดังกล่าว จะสามารถป้องกันและแก้ไขได้
จากการศึกษาในผู้บริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย พบว่าส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 40 ของผู้ที่ไม่สามารถบริจาคได้ทั้ง ๆ ที่อยากบริจาคและดูแข็งแรงดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงมีสภาวะโลหิตจางหรือความเข้มข้นของโลหิตไม่เพียงพอ เมื่อเจาะโลหิต 1 หยดจากปลายนิ้ว หยดลงไปในน้ำยาสีฟ้าซึ่งเป็นน้ำยาตรวจความเข้มข้นของโลหิต หยดโลหิตนั้นจะลอยอยู่หรือจมลงช้า ๆ ซึ่งหมายความว่าความเข้มข้นของโลหิตน้อยกว่า 12 กรัม / ด.ล. ในผู้หญิง หรือน้อยกว่า 13 กรัม / ด.ล. ในผู้ชาย ถ้าความเข้มของโลหิตเพียงพอ หยดโลหิตจะจมลงไปทันที
สำหรับผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะจัดยาเม็ดธาตุเหล็ก “เฟอร์รัสซัลเฟต” ให้กับผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน ผู้หญิงรับประทาน 30 วัน วันละ 1 เม็ด ผู้ชายรับประทาน 15 วัน ๆ ละ 1 เม็ด หลังอาหารเย็นการรับประทานยานี้ อาจมีอุจจาระสีดำเพราะธาตุเหล็กส่วนใหญ่ไม่ถูกดูดซึมและทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนและกรดในกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงขอเน้นให้ผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน กินยาเม็ดธาตุเหล็กที่มอบให้ไปจนหมด
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสภาวะความสมดุลของร่างกาย ให้สามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน ตลอดไปจนถึงอายุ 60 ปี ผู้บริจาคโลหิตจึงควรบริจาคโลหิตในขณะที่รู้สึกว่าร่างกายของตนสมบูรณ์เท่านั้น ไม่ควรฝืนใจบริจาคโลหิตทั้ง ๆ ที่รู้สึกว่าร่างกายของตนไม่ปกติ หลังจากบริจาคโลหิตแล้ว ควรรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนและที่มีธาตุเหล็กสูง หากท่านได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น ท่านจะไม่เกิดภาวะโลหิตจางอย่างแน่นอน โลหิตของท่าจะมีความเข้มข้นเพียงพอทุกครั้งที่มาบริจาคโลหิต ระบบโลหิตในร่างกายมีโลหิตใหม่ที่มีคุณภาพหมุนเวียนทดแทนโลหิตเก่าที่ออกไป ส่งผลให้เป็นผู้ที่มีผิวพรรณสดใส ไม่อ่อนเพลียมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงดีตลอดไป
เอกสารอ้างอิง
1. The Concise Encyclopedia of Foods & Nutrition โดย Audrey H Ensminger และคณะ
2. The Nutraceutical Revolution โดย Richard N. Firshein
3. Technical Manual 12th Anerican Association of Blood Banks.
รวบรวมและเรียงโดย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ที่มา : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย