16.10.12

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) คืออะไร

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) คืออะไร
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ตัวอ่อนของโลหิตโดยจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิตซึ่งนอกจากจะเจริญเติบโตเป็นเม็ดโลหิตหลายชนิดแล้ว สเต็มเซลล์ยังสามารถให้กำเนิดตัวเองได้ตลอดเวลา ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ทำให้สเต็มเซลล์ไม่มีวันหมดไปจากร่างกาย เราจึงสามารถบริจาคสเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วยโดยที่สเต็มเซลล์ของผู้บริจาคสามารถสร้างขึ้นทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
ในประเทศไทยจึงได้เริ่มตั้งโครงการจัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (National Stem Cell Donor Registry Program) โดยแพทยสภาได้ประกาศเป็นข้อบังคับว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในราชกิจจนุเบกษา และกำหนดให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2545 โครงการนี้จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2551 – 2555 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีเป้าหมายในการจัดหาอาสาสมัคร ฯ ให้ได้จำนวน 100,000 ราย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิต และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ร่วมเป็น 1 ใน 100,000 ผู้กล้าสู่ศรัทธาและความภาคภูมิใจ มอบชีวิตใหม่ที่สดในแก่ผู้ป่วย
ขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
1. คุณสมบัติของผู้บริจาค
- อายุ 18 – 50 ปี
- น้ำหนัก 40 กิโลกรัมเป็นต้นไป
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคติดต่อ และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง
2. การลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร
2.1 สำหรับผู้ที่บริจาคโลหิตอยู่แล้ว
- แจ้งความจำนง ลงทะเบียนพร้อมกับการบริจาคโลหิตปกติ
- ตรวจวัดความดันและความเข้มของโลหิตและรับหมายเลขถุงบรรจุโลหิตที่เคาน์เตอร์ ลงทะเบียน (ขั้นตอนหมายเลข 3)
อย่าลืม !! ย้ำกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่า ขอลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
- กรอกรายละเอียดเพื่อแสดงความยินยอม บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ ฯ ก่อนไปบริจาคโลหิต
2.2 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยบริจาคโลหิต
- แจ้งความจำนงลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ ฯ ก่อนที่จะไปห้องเก็บตัวอย่างโลหิต
3. หลังจากลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครเรียบร้อยแล้ว
- ศูนย์บริการโลหิตฯ จะเก็บตัวอย่างโลหิตประมาณ 20 ml. (ซี.ซี.) เพื่อนำไปตรวจลักษณะเนื้อเยื่อ (HLA of Tissue typing) และเก็บเป็นฐานข้อมูล (database) ไว้
- หากผู้บริจาคมีลักษณะเนื้อเยื่อ HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วยแล้ว ทางศูนย์บริการโลหิตฯ จะเชิญอาสาสมัครมา บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตในภายหลัง

หลากหลายวิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ (Steem Cell)
1. บริจาคทางหลอดโลหิตดำ
ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการแยกเก็บเฉพาะเซลล์กำเนิดเม็ดโลหิต เพราะเนื่องจากโลหิตในกระแสโลหิตจะมีเซลล์กำเนิดเม็ดโลหิตอยู่น้อยมากในขั้นแรกจึงต้องฉีดยา G-CSF เป็นเวลา 4 วัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมากระจายในกระแสโลหิตให้มากพอ จึงจะเข้ากระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ซึ่งคล้ายกับวิธีการเก็บเกล็ดโลหิต หรือ น้ำเหลือง (Plasma) โดยแทงเข็มที่หลอดโลหิตดำบริเวณข้อพับแขน (Vein) ให้โลหิตไหลเข้าสู่เครื่อง Automated Blood Cell Separator ที่จะแยกเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทั้งนี้ จะใช้เวลาเก็บครั้งละ 3 ชั่วโมง และอาจจะต้องเก็บ 2 – 3 วัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย
2. บริจาคทางไขกระดูกเป็นกระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากโพรงไขกระดูก โดยใช้เข้มเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะถึงกระบวนการเจาะเก็บข้างต้น ผู้บริจาคอาจต้องบริจาคโลหิตเก็บไว้ และจะนำมาให้หลังจากที่ได้เจาะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเรียบร้อยแล้ว โดยผู้บริจาคจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาลหนึ่งคืน ทั้งนี้ ร่างกายสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้นและควรพักฟื้นร่างกายประมาณ 5 – 7 วัน
การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เป็นการบำเพ็ญ “อุปบารมีทาน” ซึ่งเป็นทานบารมีที่เหนือกว่าการให้ทานทรัพย์สมบัติใด ๆ นอกจากผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจะมีชีวิตใหม่ที่สดใสแข็งแรงแล้ว โรคทางโลหิตบางชนิดหายขาด บางชนิดก็ดีขึ้นกว่าเดิม
ผู้บริจาคก็ยังเกิดความสุขใจและอยากที่จะเป็นผู้ให้แก่ผู้เดือดร้อนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด
ผลที่ได้รับจากการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
· มอบโอกาส และชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วย
· มีโอกาสตรวจร่างกายอย่างละเอียด ก่อนการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
· ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 จากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

“ขึ้นชื่อว่ากาชาดเป็นที่รู้กันดีว่า หมายถึง ผู้ช่วยด้วยเมตตา ด้วยกรุณาอย่างยิ่งต่อทุกชีวิตไม่เลือกชาติ ศาสนา หรือ ฐานะจะยากจนมีดีชั่วอย่างไร กาชาดมีใส่ใจ ช่วยได้เพียงไรกาชาดก็จะช่วย นับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ ผู้ร่วมงานด้วยจิตใจเป็นบุญเช่นนี้ ควรได้รับอนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชกลมมหาสังฆปริณายก


ที่มา : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย