หัวใจโต(enlarged
heart)หมายถึง ขนาดของหัวใจที่ตรวจพบว่าโตขึ้น
โดยเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาเนื่องจากโรคอื่นๆ หลายชนิด ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกติ...
อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
หัวใจโตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง
หรือลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือ
ขนาดของหัวใจโตขึ้นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมาก
ทำให้ขนาดของหัวใจโตขึ้น
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้หัวใจโตมีหลายประการ ได้แก่
1.
ความดันโลหิตสูง
ขณะที่หัวใจสูบฉีดโลหิตผ่านหลอดเลือดแดงแล้วไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย
แรงที่เกิดขึ้นในการทำให้เลือดไหลเวียนอยู่นี้จะมีผลต่อผนังหลอดเลือดแดงด้วย
แรงมากระทำมากผนังหลอดเลือดแดงก็ต้องยืดขยายมากไปด้วย
หากหัวใจสูบฉีดโลหิตด้วยความแรงที่สูงกว่าปกติตลอดเวลา
ระบบการไหลเวียนของโลหิตจะตกอยู่ในสภาพที่หลอดเลือดแดงรับบทหนักตลอดเวลา
หากไม่ได้รับการรักษาให้ความดันโลหิตที่สูงกลับไปสู่ปกติ
2.
โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
ส่วนใหญ่มักจะเกิดในสภาพสังคมที่ค่อนข้างจะยากจน
สาเหตุการเกิดเนื่องจากมีการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจ
หลังจากนั้นเชื้อหรือปฏิกิริยาจากการติดเชื้อก็ลงไปจู่โจมที่ลิ้นหัวใจ
ทำให้ลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบ
เกิดการทำลายเกิดขึ้นแล้วเกิดลิ้นหัวใจตีบและลิ้นหัวใจรั่วตามมา
3.
โรคหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ในประเทศไทย พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย
บางครั้งเป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ สาเหตุเกิดจากการตีบแคบ
หรืออุดตันในหลอดเลือดโคโรนารี่ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
ทำให้หัวใจขาดเลือด จึงเกิดอาการต่างๆ เช่น จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก
อาจแผ่กระจายไปที่แขน ลำคอ ขากรรไกร กราม หากเป็นมากจะอ่อนเพลีย เหงื่อออก เป็นลม
จนถึงเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
4.
โรคเบาหวาน โรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด
ผู้ป่วยโรคเบาหวานพบความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย
มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ความรุนแรง และความเรื้อรังของโรค
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีความผิดปกติของไขมันในเลือด
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่องไปเรื่อยๆ
5.
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติชนิดไม่ทราบสาเหตุ
เชื่อว่าการเกิดโรคนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ลักษณะสำคัญของโรค
พบการหนาตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ
ส่วนใหญ่เป็นการหนาตัวที่เกิดขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละบริเวณ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายและบริเวณผนังกั้นกลางระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและขวา
ทำให้เกิดการอุดกั้นเลือดที่ไหลออกจากหัวใจขณะที่บีบตัว
6.
โรคหัวใจจากแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงจะส่งผลโดยตรงต่อความดันโลหิต
ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น พบว่าการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจบกพร่องและเป็นไปในลักษณะเรื้อรัง
นอกจากนี้สารอะเซตัลดีไฮด์ที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์
ยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก
สารเหล่านี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดและเซลล์เนื้อเยื่อปลายทาง
ผลที่สำคัญประการหนึ่งเป็นความผิดปกติของไมโตคอนเดรียที่อยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
อาการ
ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าหัวใจโตอาจไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
หากจะมีอาการ ก็มักจะเป็นอาการอันเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ
และอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น
ภาวะหัวใจโตไม่ถือเป็นโรค
แต่เป็นภาวะหนึ่งของโรคหัวใจ หมายความว่าโรคหัวใจชนิดต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ
เมื่อปล่อยให้โรคดำเนินไปมากขึ้นแล้ว จะเกิดภาวะหัวใจโตขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าปล่อยให้หัวใจโตแล้ว
จะเป็นสัญญาณเตือนว่าวันข้างหน้าโรคหัวใจเหล่านี้จะทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว
เข้าสู่โรคหัวใจระยะสุดท้ายและมีโอกาสเสียชีวิตได้
การวินิจฉัย
สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติอาการ
และการตรวจร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยละเอียด
ซึ่งจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมาก นอกจากนี้การตรวจร่างกายอาจจะช่วยให้ทราบถึงสาเหตุของหัวใจโตได้เช่นกัน
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการถ่ายภาพรังสีทรวงอกช่วยในการวินิจฉัยได้มาก
ในกรณีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก
หรือผู้ป่วยที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน
จะตรวจพบได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ข้อควรระวังคือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ
การที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติมิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต
ในทางตรงข้ามแม้คลื่นไฟฟ้าหัวใจบอกว่าหัวใจโต แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่โตก็ได้
ภาพรังสีทรวงอกบอกขนาดของหัวใจได้ดีพอสมควร
แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง บ่อยครั้งที่แพทย์อาจพิจารณาสั่งการตรวจพิเศษหลายอย่าง
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด
เพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้ความเห็นและรักษา
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอัลตราซาวน์บางครั้งเรียกว่าการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ
(echocardiography)
ซึ่งช่วยให้เห็นห้องหัวใจและสามารถวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่
การตรวจชนิดนี้นังช่วยให้เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจ เห็นลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจ
และความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ
การรักษา
หลักการรักษาภาวะหัวใจโต เป็นการให้การรักษาตามสาเหตุ
เช่น รักษาความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
บางรายอาจได้รับการผ่าตัดลิ้นหัวใจ
สำหรับผู้ที่หัวใจวายต้องได้รับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวให้ดีขึ้น
นอกจากนั้นยังควรให้ความสำคัญกับเรื่องโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสม
การออกกำลังกายที่เพียงพอ ควบคุมระดับไขมันในเลือดไม่ให้สูงผิดปกติ อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจน
แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้หัวใจโตขึ้นเรื่อยๆ ได้